เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00-12.00 น. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเรื่องการผลิตและการตลาดอ้อยอินทรีย์ ภายใต้การทำงานของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) หรือ U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมี ผศ.ดร.อรุณี พรมคำบุตร เป็นผู้ประสานงานตำบล โดยจัดการอบรม ณ ไร่หงส์กิจเจริญ บ้านหัวนากลาง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ดร. อนุชา เหลาเคน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอ้อยอินทรีย์ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม เป็นวิทยากร การจัดการฝึกอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตอ้อยอินทรีย์ตามมาตราฐานเกษตรอินทรีย์ และเสนอแนวโน้มและความต้องการอ้อยอินทรีย์ในประเทศไทย พร้อมให้รายละเอียดและเงื่อนไขในการรับซื้ออ้อยอินทรีย์ของโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย
อ้อยโรงงานเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของบ้านหัวนากลาง ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลอนลูกคลื่น (Undulating land) และไม่มีระบบชลประทาน ทำให้เกษตรกรปลูกพืชไร่ ได้แก่ อ้อยและมันสำปะหลัง บนพื้นที่ดอน และพื้นที่ลุ่มปลูกข้าวเป็นหลัก ข้อมูลจากการวิเคราะห์ชุมชนของโครงการฯ พบว่า ปีการผลิต 2563/64 อ้อยโรงงานมีพื้นที่ปลูกในหมู่บ้านจำนวน 166 ไร่ มีมูลค่าการผลิตรวม 2,490,000 บาท ในปี พ.ศ. 2563 คุณจักรพงษ์ ราดถา ซึ่งเป็น Young Smart Farmers ได้ริเริ่มการปลูกอ้อยคั้นน้ำของตนเอง เพื่อนำมาแปรรูปจำหน่าย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากพื้นที่ ต่อมาได้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังเกษตรกรในชุมชน และจัดตั้งเป็นวิสาหชุมชนผู้ผลิตอ้อยคั้นน้ำ บ้านหัวนากลาง มีสมาชิกจำนวน 10 คน มีพื้นที่ปลูกรวม 30 ไร่ ปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และไอศกรีม ในชื่อ Suca และปลูกอ้อยขอนแก่น 3 เพื่อวางแผนนำมาผลิตเป็นน้ำตาล กลุ่มเน้นการผลิตแบบอินทรีย์ และอยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐานการผลิต Organic Thailand โดยมีมูลค่าการผลิตรวม 1,680,000 บาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการมีปริมาณผลผลิตจำนวนมากทำให้มีอ้อยเหลืออยู่จำนวนมาก ประกอบกับความไม่มั่นใจในตลาดของสมาชิกที่มีเพียงตลาดจากการแปรรูปของ คุณจักรพงษ์ ราดถา ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม จึงทำให้สมาชิกอยากจะเลิกการผลิตแบบอินทรีย์ ประกอบกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกบางคนยังขาดความเข้าใจในการผลิตแบบอินทรีย์ โครงการฯ จึงได้จัดฝึกอบรมเรื่องการผลิตและการตลาดอ้อยอินทรีย์ ขึ้น โดยวิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตอ้อยในระบบการผลิตอ้อยอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ กระบวนการตรวจรับรองการผลิต การรับซื้อและเงื่อนไขการรับซื้ออ้อยอินทรีย์ทั้งอ้อยโรงงานและอ้อยคั้นน้ำของโรงงานน้ำตาล และการนำเสนอกรณีตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการผลิตอ้อยอินทรีย์และจำหน่ายกับโรงงาน การฝึกอบรมดังกล่าวทำให้เกษตรกรทราบวิธีการจัดการธาตุอาหารพืชและศัตรูอ้อยแบบอินทรีย์ ขั้นตอนในการขอรับรอง และสร้างความมั่นใจกับกลุ่มเกษตรกรว่ามีตลาดรองรับผลผลิตอ้อยอินทรีย์ ทำให้มีกำลังในการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นอ้อยอินทรีย์มากขึ้น โดยสามารถประสานข้อมูลต่างๆ ผ่านประธานกลุ่มคือคุณจักรพงษ์ ราดถา ในการดำเนินการต่อไป
ผศ.ดร.อรุณี พรมคำบุตร ผู้ประสานงานตำบล กล่าวว่า “การอบรมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะสามารถเชื่อมตลาดกับเกษตรกรได้ผ่านวิทยากรที่ทำงานและมีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง ทำให้เกษตรกรเห็นเป้าหมาย ประเมินตนเองได้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดของการผลิตอ้อยอินทรีย์ และที่สำคัญเข้าใจขั้นตอนในการไปถึงเป้าหมายจากการอบรมของวิทยากร”
คุณจักรพงษ์ ราดถา ประธานกลุ่มวิสาหชุมชนผู้ผลิตอ้อยคั้นน้ำ บ้านหัวนากลาง แสดงความเห็นว่า “เห็นช่องทางการจำหน่ายอ้อยอินทรีย์ของตนซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน และจะได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต Organic Thailand ในเร็วๆ นี้ และทำให้สมาชิกกลุ่มเข้าใจในการผลิตแบบอินทรีย์มากขึ้น”
สุดท้ายนี้โครงการฯ ขอขอบคุณ ว่าที่ร้อยตรี ดร. อนุชา เหลาเคน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอ้อยอินทรีย์ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม ในการจัดการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่เกษตรกรในครั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มวิสาหชุมชนผู้ผลิตอ้อยคั้นน้ำ บ้านหัวนากลาง สามารถนำไปต่อยอดและถ่ายทอดความรู้ที่ได้แก่ผู้ที่ไม่ได้มาเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ และขอขอบคุณคุณจักรพงษ์ ราดถา ประธานกลุ่มและเจ้าของไร่หงส์กิจเจริญ ที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการฝึกอบรม
ข่าว : นางสาวปนัดดา มงคลจิต ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิต U2T ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
ภาพ : ทีม U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น