นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสังคมศาสตร์ วิชาเอกพัฒนาสังคม ได้รับการประเมินและคัดเลือกนักศึกษา ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ 3 ราย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีการศึกษา 2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564 ได้แก่ นางสาววิมลรัตน์ บุญเต็ม ได้รับรางวัล “กาลพฤกษ์ด้านคุณธรรมและจริยธรรม” นายชนะภัย เรืองโพน ได้รับรางวัล “กาลพฤกษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย” และนางสาวนุตประวีณ์ เรืองฤทธิ์ ได้รับรางวัล “กาลพฤกษ์ด้านจิตอาสา” โดยได้รับโล่เชิดชูเกียรติ พร้อมทุนการศึกษา รางวัลละ 5,000 บาท
วิมลรัตน์ บุญเต็ม กล่าวว่า “ชีวิต ถ้าจะเหนื่อย ต้องเหนื่อยให้ถูกทาง” มนุษย์เราเกิดมามีหนึ่งชีวิต มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราอยากทำ บางอย่างเราต้องเลือกถ้าหากอยากได้ทั้งสองอย่างพร้อมกัน ในอดีตกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รู้สึกตื่นเต้นกับการพัฒนาตัวเอง ทั้งทางด้านศาสนาหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ค่อนข้างมาก จนในบางครั้งทำกิจกรรมจนเกินความพอดีต่อร่างกาย ส่งผลเสียต่อร่างกาย จึงควรที่จะเดินตามทางสายกลาง เลือกทางเดินที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่ง ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงและสำคัญต่อเราในอนาคต เพราะหากเรายังดันทุรัง ที่จะทำทุกอย่างไปพร้อม ๆ กัน เราจะไม่ได้อะไรเลย
ชนะภัย เรืองโพน กล่าวว่า “เทียวทางบ่สุดเส้น อย่าถอยหลังให้เขาเหยียบ ตายขอให้ตายหน้าพุ้น เขาจั่งย่องว่าหาญ” ภูมิใจที่ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม ไปถ่ายทอดให้แก่กลุ่มผู้ที่สนใจในด้านศิลปวัฒนธรรมเช่นเดียวกับเราให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และหวังว่าองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดไปจะสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต การเผยแพร่ที่ง่ายที่สุดคือ เริ่มจากตัวเราเอง เพราะไม่สามารถไปบังคับให้ผู้อื่นมาชื่นชอบแบบตัวเราได้ และจะช่วยเหลืองานด้านศิลปวัฒนธรรมในหลายระดับอย่างสุดฝีมือและเต็มศักยภาพ เพราะสิ่งที่ได้รับกลับมานั้นเป็นรูปแบบของความสุขและความทรงจำที่ดี
นุตประวีณ์ เรืองฤทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า “รักและศรัทธาในสิ่งที่ทำ” เมื่อเรามีความรักในสิ่งที่ทำ เราจะสามารถทำในสิ่งนั้นออกมาได้ดีและเกิดความสุขใจในสิ่งที่ได้ทำ เรารักในการทำกิจกรรมด้านจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์ตั้งแต่ช่วงที่เรียนระดับมัธยมศึกษา การทำกิจกรรมอาจจะมีบางครั้งที่เหนื่อยล้าและรู้สึกท้อ แต่ในระหว่างทางได้พบเจอและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความศรัทธาในสิ่งที่ตนเองได้ทำเพื่อสังคม ความศรัทธานี้สร้างได้จากตัวเราเองที่มองเห็นความดีในสิ่งที่ตนเองได้ทำ เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและเป็นประโยชน์กับส่วนรวม เมื่อเราศรัทธาในตนเองสิ่งที่ตามมาคือ สังคมรอบข้างกลับมามองและศรัทธาในการทำความดี เชื่อเสมอว่าการทำเพื่อคนอื่นไม่ใช่การเสียเปรียบ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีจบสิ้น หากเรามุ่งมั่นตั้งใจในการทำความดี เราจง “รักและศรัทธา ในตนเอง”
ข่าว : กลุ่มพัฒนานักศึกษาและการต่างประเทศ
ภาพ : ลัดดาวัลย์ ฉิมงาม