คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวหลักสูตรปรับปรุงใหม่ระดับปริญญาตรี ในชื่อ “หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแสดง (Performance Practice)” ชื่อปริญญา ศป.บ.(การแสดง) หรือ B.F.A. (Performance Practice) ถือเป็น หลักสูตรทางด้านศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตหลักสูตรแรกของประเทศไทย และสาขาการแสดงสาขาแรกในประเทศไทยที่พร้อมในการปรับการเรียนการสอนเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm)
โดยเน้นการเรียนรู้ที่มุ่งสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome-based learning) เป็นเป้าหมายของการศึกษา เน้นการพัฒนาและประเมินสมรรถนะ (Competency) ของผู้เรียน เปลี่ยนมาใช้ระบบชุดวิชา (Modules) ปรับเปลี่ยนบทบาทของ “อาจารย์” เป็น “โค้ช (Coach)” เน้นการจัดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง (Experiential-based Learning) เน้นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนารายบุคคล (Personalized Learning) การส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ (Flipped classroom) โดยเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Experiential learning) ผ่านโครงงาน (Project-based learning) และกลวิธีการสอนแบบที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based instruction) และ การใช้วิจัยเป็นฐาน (Research-based Instruction) และการบูรณาการเรียนรู้ผ่านพื้นที่/สถานประกอบการ (Work-integrated learning) และการสร้างหลักสูตรใหม่ตามความต้องการของสังคมผ่านการจัดการเรียนการสอนในหลายรูปแบบทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัย การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ และการเรียนรู้จากพื้นที่จริงจากสถานประกอบการและชุมชน รวมถึงพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
ในการปรับปรุงหลักสูตรจากเดิมคือหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดง มาเป็นหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแสดง (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) ในครั้งนี้คณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรได้พิจารณาถึงปัจจัยและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ แผนพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2570) ตลอดจนแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคการเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัลเป็นหลักสำคัญ จึงได้หันกลับมามองเรื่อง “พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมพื้นถิ่น” เนื่องจากจังหวัดขอนแก่นตั้งอยู่ศูนย์กลางของภาคอีสาน และพื้นที่ที่รุ่มรวยด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรม จึงได้ให้ความสำคัญกับการสร้างงานทางศิลปะการแสดง จากฐานศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ผ่านขบวนการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity)
เพื่อพัฒนาและสร้างหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตให้กลายเป็น “นักสร้างและนักปฏิบัติการทางการแสดง” ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและสังคมด้วยฐานคิดและเครื่องมือทางการแสดงเพื่อก่อให้เกิดผลงานการแสดง เกิดกระบวนการคิดและกลวิธีการใหม่ ๆ ผสานกับเครื่องมือและหลักคิดทางศิลปะการละครตะวันตก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญในการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่หรือคิดสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของผลผลิตทางศิลปะการแสดงให้มีคุณภาพระดับสากล สร้างประสบการณ์และการรับรู้ศิลปะการแสดงร่วมสมัยแก่ผู้คนในวงกว้างทั้งในระดับชุมชนและนานาชาติ จนนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนอีสานและสังคมไทยผ่าน “พื้นที่ศิลปะการแสดง”
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว หลักสูตรฯ ได้พัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program Learning Outcomes) ที่ครอบคลุมทักษะความรู้ ทักษะปฏิบัติ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของบัณฑิตสาขาวิชาการแสดงตามสมรรถนะของวิชาชีพทางด้านการแสดงดังนี้
สมรรถนะหลัก
PLO1. สมรรถนะด้านการเล่าเรื่อง (Storytelling Skills: ST)
PLO2. สมรรถนะด้านการสร้างการแสดง (Performance Making Skills: PM)
สมรรถนะเสริม
PLO3. สมรรถนะด้านการประยุกต์ใช้การแสดง (Applied Performance Skills: AP)
PLO4. สมรรถนะด้านสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital Media and Technology Skills: DT)
PLO5. สมรรถนะด้านบริหารจัดการการแสดง (Performance Management Skills: PM)
ผลผลิตของบัณฑิตภายใต้หลักสูตรนี้จึงต้องมีสมรรถนะสำคัญหลักทางด้านการแสดงได้แก่ “ทำ”การแสดง…ดี “คิด”การแสดง…ได้ “ใช้”การแสดง…เป็น เป็นผู้ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ได้แก่ (1) เป็นนักคิดสร้างสรรค์และนักปฏิบัติการทางการแสดง (2) เป็นนักจัดการการแสดง ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหน้าหรืออยู่เบื้องหลังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในการทำงานที่หลากหลายได้อย่างมืออาชีพ และ (3) เป็นนักประยุกต์ นักส่งเสริมและนักพัฒนาวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นผู้สร้างสรรค์และผู้ขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างมีรสนิยมบนพื้นฐานของการเคารพวัฒนธรรมที่หลากหลายมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณตามหลักวิชาชีพทางการแสดงสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม
หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร?
- ผู้ที่หลงใหล มีใจรัก และมีทักษะ….ด้านการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละคร ร้อง ลำ แรป เต้น ฟ้อน รำ พิธีกร เล่นดนตรี ฯลฯ
- ผู้ที่หลงใหลและชื่นชอบ….ในการเล่าเรื่อง ชอบทำการแสดง ชอบคิดการแสดง ชอบสื่อสารผ่านการแสดง ทั้งบนเวที หน้ากล้อง หรือสื่อโซเชี่ยล กล้าคิดสร้างสรรค์ รักความท้าทาย กล้าสร้างความแตกต่าง
- ผู้ที่หลงใหลและคลั่งไคล้…ในการทำงานเบื้องหลัง ชอบทำงานเป็นทีม เป็นนักคิดสร้างสรรค์ เป็นนักจัดการ เป็นผู้ที่คอยผลักดันให้การแสดงเบื้องหน้าประสบความสำเร็จ
คุณสมบัติของผู้สมัคร
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ซึ่งกำลังศึกษาในปีการศึกษา 2564
- ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าที่จบก่อนปีการศึกษา 2564
- มีผลการเรียน GPAX (รวม5เทอม) ไม่ต่ำกว่า 00
พร้อมเปิดรับนักศึกษาใหม่ปีแรก ในปี 2565
รับจำนวน 30 ที่นั่ง
เปิดรับสมัครคัดเลือกในรอบ PORTFOLIO เพียงรอบเดียวเท่านั้น!
สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัคร ได้ที่ Facebook Fan page : Performance Practice KKU
Faculty of Fine and Applied Arts, KKU, is offering a new program on “Performance Practice” – the first in Thailand under the new instructional paradigm