มข. จับมือ ภาคี ระดมสมอง สร้างแนวทาง “เวชนครขอนแก่น” เมืองอัจฉริยะด้านสุขภาพ

เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 08.00 – 12.00น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ จังหวัดขอนแก่น ทีเซลส์ และกลุ่มเครือข่ายพันธมิตร จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากหน่วยงาน/องค์กร และ ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเวชนครจังหวัดขอนแก่น (KHON KAEN MEDICOPOLIS) โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มอบนโยบายและกล่าวเปิดประชุม รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน  รองศาสตราจารย์  ดร.สุกัญญา เอมอิ่มธรรม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวรายงาน  ในการนี้มีนักวิจัย ภาคเอกชน ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 60 คน ณ ห้องประชุมนภาลัย โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

สืบเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์สุขภาพจังหวัดขอนแก่น มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองให้เป็นพื้นที่ที่มีสุขภาวะเข้มแข็ง ประชาชนสุขภาพดี พร้อมเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์ระดับประเทศ  ประกอบกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) มีแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการนำนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ มาขยายผลสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจในพื้นที่ จากวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกัน จึงนำมาสู่ การระดมภาคีเครือข่าย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะ การพัฒนาเวชนครจังหวัดขอนแก่น (KHON KAEN MEDICOPOLIS) ขึ้น

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีแผนยุทธศาสตร์สุขภาพของจังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2563 – 2565 มุ่งเน้นการให้บริการด้านสุขภาพที่เป็นเลิศ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการการแพทย์ และ สุขภาพของประชาชน  นอกจากนี้จังหวัดขอนแก่น ยังดำเนินโครงการพัฒนาจังหวัดสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ SMART CITY จากเหตุผลข้างต้นนับว่ามีความเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเมืองนวัตกรรมสุขภาพ หรือ KHON KAEN MEDICOPOLIS อย่างยิ่ง เนื่องจาก โครงการพัฒนาเมืองนวัตกรรมสุขภาพ มีการสร้างนวัตกรรมต้นแบบ(Prototype) เพื่อขยายผลไปสู่การผลิตวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และ ชีววิทยาศาสตร์อื่น ๆ ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่จังหวัด คาดว่าผลการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมากในอนาคต

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร ยุทธศาสตร์ งานวิจัยและบริการ ที่สอดรับการพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การสร้างความเข้มแข็งในบริการทางแพทย์ และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

“เพื่อสร้างให้ประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญในการก้าวเป็นผู้นำ ศูนย์กลางบริการทางด้านสุขภาพของเอเชีย การประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันนี้จึงเป็นการสร้างการรับรู้ และนำมาสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อพัฒนาบริการสุขภาพ เชื่อมโยงให้เกิดการวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์  และนวัตกรรมบริการสุขภาพ ผลักดันให้เกิดการลงทุนร่วมทุนกับเอกชน และสร้างความเข็มแข็งให้กับการแพทย์ในจังหวัดขอนแก่นด้วยเช่นกัน”

ดร.ชัยรัตน์  อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเซลส์” (TCELS) กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเมืองและการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรม การดูแลและส่งเสริมสุขภาพในจังหวัดขอนแก่น จากการศึกษาในครั้งนี้เชื่อว่าจะนำไปสู่การขยายผล และ แนวทางผลักดันอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ของจังหวัดขอนแก่นให้เติบโต และ แข็งแรง ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ส่วนภูมิภาคต่อไปอย่างแน่นอน

KKU and allies brainstorm on how to develop “Khon Kaen Medicopolis” or a smart-health city

https://www.kku.ac.th/11953

 

หลังจากพิธีเปิดเป็นการนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ โครงการเวชนคร จังหวัดขอนแก่น โดยคณะวิจัย ประกอบด้วย มิติด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และบริการสุขภาพ มิติความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ มิติความเป็นไปได้ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มิติความเป็นไปได้ด้านนโยบายและแผน ต่อจากนั้นเป็นการประชุมระดมสมองเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการเมืองเวชนคร จังหวัดขอนแก่น และการเสวนา แนวทางการขับเคลื่อนจังหวัดขอนแก่นสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะด้านสุขภาพ : เวชนครขอนแก่น โดย ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่น ตัวแทนฝ่ายสาธารณสุข ตัวแทนภาคประชาชน รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

Scroll to Top