รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ และบุคลากรสำนักบริการวิชาการ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุมกลัปพฤกษ์ 4 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นายวิทูรย์ กมลนฤเมธ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ รับฟังการรายงาน ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ รายงานความก้าวหน้าโครงการ U2T ว่า “สำนักบริการวิชาการ รับผิดชอบดำเนินงานใน 9 ตำบล 3 อำเภอ ประกอบด้วย 1) อำเภอภูผาม่าน จำนวน 4 ตำบล 2) อำเภอภูเวียง จำนวน 4 ตำบล และ 3) อำเภอมัญจาคีรี จำนวน 1 ตำบล มีความก้าวหน้าและโดดเด่นในแต่ละด้าน เช่น ตำบลกุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น มีความโดดเด่น ด้านTelemedicine สุขภาพอัจฉริยะ คว้ารางวัลชนะเลิศ สุดยอด 5 ทีมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) คัดเลือกสุดยอดระดับภูมิภาคเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นต้น”
จากนั้น ได้มอบหมายให้ นางสาวเสาวลักษณ์ ราชำ นักวิชาการศึกษา ผุู้รับผิดชอบ ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น นำเสนอความก้าวหน้า ว่า “วังสวาบ มีความโดดเด่นเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นแหล่งท่องเที่ยว คือ 1) มีแม่น้ำเซินไหลผ่าน สามารถจัดกิจกรรมล่องแพได้ 2) มีน้ำตก 3 แห่ง ได้แก่ น้ำตกตาดใหญ่ น้ำตกทิดมี น้ำตกตาดฟ้า 3) น้ำผุดตาดเต่า และ 4) ชมทิวทัศน์ที่งดงามของอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน บนจุดชมวิวดงสะคร่าน สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ U2T จึงเข้าไปช่วยในการจัดกลุ่ม และจับคู่ธุรกิจให้กลุ่มผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพากันและกันได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ชุมชนเกิดรายได้ เช่น การพัฒนาซุบหน่อไม้สมุนไพรกึ่งสำเร็จรูป การพิมพ์ลายผ้าจากใบไม้สด เป็นต้น”
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า “การค้นพบแหล่งท่องเที่ยว Unseen ทำให้คนสนใจท่องเที่ยวก่อให้เกิดรายได้กับชุมชนเป็นสิ่งที่ดี ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ และขอให้ทำคลิปผลที่เกิดขึ้นจากโครงการโดยให้ชาวบ้านเล่าความรู้สึกว่า บัณฑิตใหม่ ประชาชน และนักศึกษา เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาตลาดทั้งภายในชุมชนและออนไลน์ ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไร เพื่อสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโครงการอย่างแท้จริง”