เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดฝึกอบรมเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting ถ่ายทอดการอบรมจากศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร.จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติกล่าวเปิดงานอบรม ดังนี้
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับพิจารณาจาก อพ.สธ. ให้จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. – มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อเป็นหน่วยงานประสานงานสนองพระราชดำริหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจ การจัดฝึกอบรมบุคลากรหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ตามหลักสูตร อพ.สธ. และหลักสูตรสนับสนุนงานสนองพระราชดำริ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในภูมิภาค
กล้วยไม้ป่า เป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่นักวิจัยในมหาวิทยาลัยขอนแก่นสำรวจพบในพื้นที่ปกปักทรัพยากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบว่ามีความหลากหลายค่อนข้างมาก กล้วยไม้ป่าที่ส่วนใหญ่ที่พบในท้องถิ่นเป็นชนิดทั่วไปของป่าเต็งรัง แต่มีบางชนิดที่ปัจจุบันพบน้อยลงในสภาพธรรมชาติ เช่น รองเท้านารีเหลืองปราจีน และช้างกระ ดังนั้น จึงควรมีการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อรักษาสายพันธุ์ ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนและรักษาชนิดเดิมในพื้นที่ รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของทรัพยากรในพื้นที่นำมาสู่การหวงแหนและอยากการอนุรักษ์ต่อไป โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเป็นวิทยาการสำหรับการอนุรักษ์และการเก็บรักษาพันธุกรรมพืช ที่มีการพัฒนาเทคนิคในการขยายพันธุ์แบบใหม่ เพื่อให้ได้ต้นพืชปริมาณมาก ใช้ระยะเวลาอันสั้น และมีลักษณะทางพันธุกรรมตรงตามแม่พันธุ์ทุกประการ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถเก็บรักษาพันธุกรรมพืชให้คงอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีการกลายพันธุ์
การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากท่านวิทยากร ดร.วิไลลักษณ์ ชินะจิตร, อาจารย์ฐิติพร พิทยาวุธวินิจ และคุณพรทิพย์พา หาระโคตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายให้ควารมรู้ โดยมีหัวข้อการบรรยาย ดังนี้
หัวข้อการบรรยาย “ความรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้” ได้แก่ การจำแนกตามลักษณะที่ขึ้นในสภาพธรรมชาติ, การจำแนกตามลักษณะการเจริญเติบโต, ความหลากหลายของกล้วยไม้ป่าในประเทศไทย พบจำนวน 168 สกุล จำแนกได้ 1,200 ชนิด, ตัวอย่างชนิดกล้วยไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ดิน, แหล่งกล้วยไม้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, กล้วยไม้ที่พบในพื้นที่ปกปักทรัพยากร อพ.สธ. – มข. และการอนุรักษ์กล้วยไม้ป่า
หัวข้อการบรรยาย “การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเบื้องต้น” ได้แก่ ความหมาย, ความสำคัญ, ประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช, ขั้นตอนการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
หัวข้อการบรรยาย “การเตรียมสารละลายเข้มข้นและการเตรียมอาหารสังเคราะห์ การฟอกฆ่าเชื้อชิ้นส่วนพืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช” และวิดีทัศน์ประกอบการบรรยาย
และการแสดงตัวอย่าง ฝักและเมล็ดกล้วยไม้แต่ละชนิด, การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ในแต่ละช่วงอายุ, วิธีการผสมเกสร และแสดงวิธีการนำต้นกล้วยไม้ออกจากขวดเพาะเลี้ยงเพื่อนำไปปลูกต่อ โดยการอบรมในครั้งนี้ได้มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรม จำนวน 100 คน และได้รับชุดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้พร้อมปลูกคนละ 1 ชุด สำหรับฝึกอปฏิบัติพร้อมกับการอบรม จากนั้น วิทยากรได้ตอบคำถาม ให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมอบรมที่สนใจเกี่ยวกับขั้นตอน และเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพิ่มเติม เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรต่อไป