คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.ดร.อรุณี พรมคำบุตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) หรือ U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท และพื้นที่ตำบลโคกสง่า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาแผนธุรกิจสินค้าชุมชน” แก่ผู้ปฏิบัติงานในโครงการฯ และผู้ประกอบการในพื้นที่ ผ่านระบบออนไลน์ (Google Meet) โดยมี ผศ.ดร. สุกานดา นาคะปักษิณ เป็นวิทยากรหลักในการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังมี คุณไพโรจน์ จุลรัตน์ CEO ไมโครเบรน จำกัด และคุณจิตติพร จิตต์ภักดิ์ Producer บริษัทเอเจนซี่โฆษณา เป็นวิทยากรช่วยในการฝึกอบรมครั้งนี้ การฝึกอบรมครั้งนี้ จัดกิจกรรมในรูปแบบการให้คำแนะนำจากวิทยากร ต่อแผนธุรกิจที่จัดทำโดยผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่เกิดจากการเก็บรวมรวมวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน และประชุมกลุ่ม เพื่อค้นหาสินค้าเด่น และคนเด่น ที่ต้องการพัฒนาสินค้าเดิมหรือริเริ่มสินค้าใหม่ โดยผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานได้นำเสนอแผนธุรกิจสินค้าที่จัดทำในรูปแบบ Business Model Canvas (BMC) เพื่อขอรับคำแนะนำจากวิทยากร กิจกรรมดังกล่าว มุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรม มีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา การสื่อสารทางการตลาด การหาช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 35 คน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
ผศ.ดร. สุกานดา นาคะปักษิณ (วิทยากร) ได้กล่าวว่า ในมุมของวิทยากรมองว่า โควิดไม่ได้ทำให้ซบเซาในทุก ๆ เรื่อง มันมีแกนของความรุ่งโรจน์ของหลายๆ ธุรกิจอยู่ แต่เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาธุรกิจของเราให้ไปอยู่ในแกนของความรุ่งโรจน์นั้น ๆ ได้ มีบางธุรกิจสามารถเติบโตได้เพราะโควิด เช่น ธุรกิจต้นไม้ฟอกอากาศ เนื่องจากตอนนี้เป็นเทรนด์ของการ work from home ที่บ้านเป็นทุกอย่าง อยู่ที่บ้านเกิน 21 วันที่จะสามารถเปลี่ยนให้พฤติกรรมที่เราทำตลอด 21 วันให้กลายเป็นกิจวัตรได้ กลายเป็นว่าก็ยังมี demand ที่ต้องการซื้อต้นไม้มาตกแต่งบ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผศ.ดร. สุกานดา ยังกล่าวว่า การทำการตลาดหรือการทำธุรกิจมีแค่เรื่องเดียว คือ เรามี supply แล้ว demand อยู่ตรงไหน เราต้องหาจุดสมดุลที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าให้ได้ เราต้องรู้ให้ได้ว่าเราจะส่งสินค้าเราไปจุดไหนที่จะสามารถขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด
คุณไพโรจน์ จุลรัตน์ แสดงทัศนะว่า เมื่อสินค้าพัฒนาให้เกิดมาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแล้ว การนำดิจิทับเทคโนโลยีที่ชุมชนสามารถใช้งานได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน ก็จะช่วยให้ชุมชนในฐานะผู้ผลิตใกล้ชิดกับผู้บริโภคตลาดเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อการใช้งานในระดับ local business หลายแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้ประกอบการชุมชนทั้ง 2 ตำบลมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองสู่ digital economy ได้ไม่ยากนัก
คุณจิตติพร จิตต์ภักดิ์ เพิ่มเติมว่า การเล่าเรื่อง หรือ story telling ที่ดีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ขาดการเล่าเรื่องที่ดี ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในตลาด อีกทั้งไม่สามารถเชื่อมไปยังผู้บริโภคเป้าหมายได้ ดังนั้น การทำการตลาด ทีมนักพัฒนา จำเป็นต้องสืบ เสาะ ค้น และนำข้อมูลภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า วิถีที่งดงาม กระบวนการที่ชุมชนสร้างสรรค์ชิ้นงานต่าง ๆ ด้วยความจริง สื่อสารออกไปให้ตลาดได้ทราบ รับรู้ ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้ อยากให้ทีมช่วยกันเก็บข้อมูล ภาพถ่าย ให้ครบคลุมหลากหลายเตรียมไว้ เพื่อสามารถหยิบมาใช้งานในการตลาดได้ในลำดับถัดไป
โดยในการฝึกอบรม ผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานได้มีการนำเสนอ BMC ของผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อให้วิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรมได้ทำความเข้าใจสินค้าและปรับจุดอ่อนหรือเสริมจุดแข็งรวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ วิธีการสื่อสารทางการตลาดที่จะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น ช่องทางการตลาด การพัฒนาสินค้าให้มี
อัตลักษณ์ มีความเฉพาะตัวยิ่งขึ้น สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตและการทำงานที่เปลี่ยนไปภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การ work from home เป็นต้น
ด้านนายศักดา สายศร ผู้ปฏิบัติงานโครงการ U2T ที่เข้าร่วมอบรบได้กล่าวว่า การได้เข้าร่วมการฝึกอบรมทำให้ได้รับความรู้ในการพัฒนาแผนธุรกิจและพัฒนาสินค้าเพื่อให้เห็นภาพรวมของธุรกิจสินค้าชุมชน เพื่อที่จะปรับจุดอ่อนหรือเสริมจุดแข็งรวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจได้ง่ายและรวดเร็ว และยังได้เห็นมุมมองในการหาแหล่งตลาดที่กว้างและชัดเจนตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้โครงการฯ ขอขอบคุณ ผศ.ดร. สุกานดา นาคะปักษิณ ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ การจัดอบรมครั้งนี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างทักษะการพัฒนาแผนธุรกิจสินค้าในชุมชนแก่ผู้ปฏิบัติงานงานในโครงการ U2T ให้สามารถพัฒนาแผนธุรกิจและพัฒนารูปแบบสินค้าเพื่อผู้ประกอบการภายใต้การดำเนินงานของโครงการได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการของผู้ปฏิบัติงานอีกทางหนึ่ง โครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดอบรมนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเข้าร่วมอบรมให้สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดสินค้าและยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน ต่อไป
ข่าว : นางสาวอรปรียา เกรียงศรี และนางสาววราภรณ์ สวัสดิ์นะที ผู้ปฏิบัตงาน U2T ตำบลบ้านเท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
ภาพ: ทีม U2T ตำบลบ้านเท่นและตำบลโคกสง่า
U2T of the Faculty of Agriculture, KKU holds a coaching workshop for entrepreneurs in developing community products