จากนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยรูปแบบการจ้างงาน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชน 60,000 คน ให้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างงานและพัฒนาแก้ไขปัญหาและเศรษฐกิจของตำบลแบบพุ่งเป้า โดยดำเนินการ 1 ปี โดยใช้ชื่อเรียกว่า University to Tambon หรือ U2T ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก 4 ด้านคือ การยกระดับสังคมรายตำบลแบบบูรณาการโดยมหาวิทยาลัยเป็น System Integrator การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน Community Big Data เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตใหม่ และนักศึกษาให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าร่วมโครงการ ตามนโยบายของ สำนักปลัดกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้วยบทบาทของการเป็นแม่ข่ายอีสานตอนบนดูแลและบริหารจัดการ 395 ตำบล 9 มหาวิทยาลัย ครอบคลุม 15 จังหวัด โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้บูรณาการคณะหน่วยงานถึง 16 ส่วนงานถึง 135 ตำบล มีระยะเวลาการดำเนินโครงการไปจนถึง ธันวาคม 2564
นับจากการเปิดตัวโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินงานตามแผนงานที่เข้มข้น มีการรายงานผลความสำเร็จของทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนมาถึงขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 4 ของแผนงานที่เน้นการถอดบทเรียนเพื่อเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ต่อยอดโครงการ จึงได้กำหนดจัดการแข่งขันแฮกกะธอน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาทักษะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับการจ้างงานได้ระดมความคิดอย่างสร้างสรรค์ บนปัญหาและความต้องการในพื้นที่จริงกว่า 3,000 ตำบล ให้ได้มาซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาด้านนวัตกรรมที่ ตอบโจทย์กับบริบทในพื้นที่ ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงในชุมชน (Community integrated Learning) ภายใต้โจทย์แนวทางแก้ปัญหา ( ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ใน 4 ด้าน ได้แก่ ( Creative Economy Technology/Health Care Circular Economy และ Art and Culture ตั้งเป้าหมายมีผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่า 320 ทีม หรือ 2,000 คน โดยมอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษา 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ ดำเนินการจัดแข่งขันระดับภูมิภาค เพื่อคัดเลือกสุดยอด 40 ทีม เข้าแข่งขันในระดับประเทศต่อไป
จากการที่ได้มีการจัดการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon2021)คัดเลือกสุดยอดระดับภูมิภาคเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เมื่อวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2564 ณ.ห้องประชุมสัมมนา อาคาร 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย เพื่อเลือกจำนวน 5 ทีมเป็นตัวแทนเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษา นับเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งเมื่อ ทีม U2T กุดเค้า telemedicine สุขภาพอัจฉริยะ และ ทีม Vermi Team จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดการนำเสนอผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน แฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021)ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล(มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ทีมสุดยอดระดับภูมิภาคเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนร่วมกับอีก 4 ทีม
ทีม U2T กุดเค้า telemedicine สุขภาพอัจฉริยะตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น คือ1ใน2ทีมชนะเลิศในพื้นที่ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สำนักบริการวิชาการ โดยมีสมาชิกประกอบด้วย นางสาวจิตราภรณ์ พันชาติ หัวหน้าทีม นางสาวกิตติมาธร มณีศรี นางสาวเฉิดโฉม คำงาม นางสาวเจนจิรา กันยาโม้ นายกฤษฎากรณ์ มาศรีนางสาวกาญจนา เคนานัน นางสาวประภาวดี เชื้อหมอดู และ นายกษิณัฐ เกื้อกูล ที่ร่วมกันบูรณาการในการทำงานร่วมกันของ สำนักบริการวิชาการ องค์การบริหารส่วนตำบลกุดเค้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และโรงพยาบาลมัญจาคีรี ได้นำเสนอการดำเนินการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองผ่านข้อมูลมือ2 จาก โรงพยาบาลมัญจาคีรี นำมาวิเคราะห์ และลงพื้นที่ เพื่อประชุมสร้างความร่วมมือ ความเข้าใจกับผู้นำชุมชน ประชาชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน โดยนำนวัตกรรมด้านสุขภาพเกี่ยวกับการตรวจ โรค NCDs ( non-communicable diseases) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ในพื้นที่เป้าหมาย ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ด้วยเครื่องตรวจสุขภาพอัจฉริยะ “เทเลเมดดิซีน” telemedicine อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถตรวจสุขภาพได้หลากหลาย คือ ตรวจน้ำตาลในเลือด ความดัน น้ำหนัก ส่วนสูง ค่าออกสิเจนในเลือด ได้อย่างครบถ้วนและกำลังพัฒนาที่จะตรวจไต ซึ่งจะไม่เจาะเลือด แต่จะตรวจจากปัสสาวะ โดยเครื่องดังกล่าว เป็นนวัตกรรมจาก อ.ชวิศ ศรีจันทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยบูรณาการงานวิจัยร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ร่วมมือกับบริษัท ทีโรโบติกส์ จำกัด T Robotics
นำผลมามาเปรียบเทียบเรื่องความคุ้มค่าระหว่าง การพบหมอโดยตรง กับการตรวจด้วยเครื่อง “เทเลเมดดิซีน” และต้นทุนค่าใช้จ่าย ดังนี้คือ แพทย์ 1 คน ตรวจคนไข้ได้ประมาณ 10 คน ต่อวัน ในขณะที่เครื่องเทเลเมดดิซีน จะสามารถตรวจได้ถึง 50 คน เมื่อเปรียบเทียบในเชิงความคุ้มค่าด้านค่าใช้จ่าย ค่าตรวจ 1 คน 350 บาท (รวมค่าหัตถการ) ตรวจคนไข้ประมาณ 10 คน ต่อวัน คิดเป็นเงิน 3,500 บาท หากเป็นการใช้เครื่อง “เทเลเมดดิซีน” ค่าเช่าเครื่อง วันละ 200 บาท ใน 1 วัน เครื่องสามารถตรวจร่างกายคนไข้ได้ประมาณ 50 คน ต่อวัน คิดเป็นเงินเฉลี่ย คนละ 4 บาท หลังจากมีการตรวจเก็บข้อมูลพบกลุ่มตัวอย่างแล้วจึงได้มีการรณรงค์ปรับพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมให้กับชุมชน
นางสาว จิตราภรณ์ พันชาติ บัณฑิตจบใหม่ที่ทำงานในพื้นที่เป้าหมาย ในฐานะ หัวทีม U2T กุดเค้า telemedicine สุขภาพอัจฉริยะ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ผลงานได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนในรอบนี้ ด้วยแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างทุ่มเทเต็มที่ทั้งแรงกายแรงใจ ซึ่งการได้มีโอกาสเข้าร่วมในการดำเนินโครงการของ U2T ทำให้เกิดทักษะกระบวนการทำงานด้านต่างๆ ทั้งการพูด ทักษะการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา หรือทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะทักษะกระบวนการทำงานเป็นทีม เนื่องจากแต่ละคนมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ดังนั้นการเคารพและฟังความคิดเห็นของผู้อื่นจึงสำคัญ ด้วยการเรียนรู้ เข้าใจ และปรับตัวในด้านต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของตนเองในการทำงานให้มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น ในการนำองค์ความรู้ทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปเผยแพร่ให้ความรู้แก่ชุมชน นำไปสู่การเรียนรู้ เข้าใจในชุมชนต่อไปได้อย่างยั่งยืนค่ะ
“เนื่องจากTelemedicineหรือเครื่องตรวจสุขภาพอัจฉริยะ เป็นนวัตกรรมที่สามารถตรวจสุขภาพของคนเป็นโรค ncdได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่ 3-5 นาที ทำให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที และยังมีระบบ Cloud ที่สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ นำไปสู่ความโดดเด่นที่แปลกใหม่ ทันสมัย และไม่เหมือนใคร ตามสโลแกนของทีมที่ว่า“Telemedicineรวดเร็ว ทันใจ ปลอดภัย ไม่เจ็บตัว นับเป็นการผสานนวัตกรรมและแนวทางการปฏิบัติที่สามารถแสดงผลความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม น่าจะเป็นความโดดเด่นของผลงานที่นำมาสู่ความสำเร็จของทีมเราและมหาวิทยาลัยขอนแก่น “ นางสาว จิตราภรณ์ พันชาติ
Vermi Team เป็นอีก 1 ทีมที่นำชื่อเสียงความสำเร็จมาสู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในพื้นที่ที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อันเป็นพื้นที่การดูแลของคณะเกษตรศาสตร์ โดยมี อาจารย์ พัชราภรณ์ ภูมิจันทึก อาจารย์ผู้ประสานงานรายตำบล และ รศ.ดร. ชุลีมาศ บุญไทย อิวาย นักวิจัยและผู้อำนวยการเรียนรู้วิจัยและพัฒนาไส้ดิน เพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขับเคลื่อนงานร่วมกับนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และบุคลากรในพื้นที่ ได้นำเสนอการทำงานในนาม VermiTeam ที่ประกอบด้วยสมาชิกคือ นางสาววิจิตรา อุ่นแก้ว หัวหน้าทีม นางสาวกฤติยากรณ์ เรืองเขตรการณ์ นางสาวสุภาวดี เรืองจันดา นางสาวพรรณทิพา คล่องแคล่ว นายเชษฐ์วรุณน์ ทัศนียพงค์
Vermi Team ได้นำเสนอ “การเพิ่มมูลค่ามูลกระบือร่วมกับเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน” โดยเน้น เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยมีความสามารถในการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดินใช้เองในแปลงเกษตรของตนได้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ลดการใช้สารเคมีที่มีโอกาสตกค้างได้จากกระบวนการผลิตผัก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ในระยะยาว ส่งเสริมให้เข้าถึงอาหารปลอดภัย มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับชุมชน เพราะ การใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินทดแทนสารเคมีนั้นเป็นรูปแบบการเกษตรที่ไม่เพียงไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่เพียงเท่านั้น ผักปลอดภัยยังมีราคาขายที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่าผักปนเปื้อนสารเคมีเป็นเท่าตัวอีกด้วย ทั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน หรือ Vermitechnologyมาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่กระบวนการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนเดือนดิน จนถึงการวางแผนการจัดจำหน่าย โดยการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของชุมชุนขึ้น มีการวางแผนธุรกิจ Business Model Canvasโดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่กลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอินทรีย์ อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายร้านค้าในชุมชุนและออนไลน์ วางแผนปัจจัยในการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สร้างเครือข่ายการเลี้ยงปุ๋ยไส้เดือนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตัวเองได้แก่คนในชุมชนและยังช่วยส่งเสริมสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัย บ้านชีกกค้อ โดยมีนายถนอม ศรีวงษ์เป็นประธานกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัย ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มหลักของชุมชุนตำบลเมืองเพีย
นางสาววิจิตรา อุ่นแก้ว หัวหน้าทีม Vermi Team กล่าวว่า โครงการ U2t มีประโยชน์ในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาทักษะของนักศึกษา บัณฑิต และประชาชนในพื้นที่การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ และบุคลากรในหน่วยงานนั้นๆ การเรียนรู้การทำงานเป็นทีม มีการวางแผนการทำงานก่อนและหลัง การปฏิบัติงานการเรียนรู้ ฝึกประสบการณ์การทำงาน ซึ่งตลอดเวลาที่ได้เข้าร่วมการทำงานได้มีประสบการณ์การเรียนรู้การทำงานร่วมกันและการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และอีกทั้งยังสามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นนำไปพัฒนาสู่ชุมชุน
“เรามีการวางแผนการทำงาน การทำงานเป็นทีม เพราะสมาชิกในทีมมีประสบการณ์ในการทำงานที่แตกต่างกัน ได้แก่ ด้านการจัดทำสื่อ ด้านส่งเสริมการเกษตร ด้านการเลี้ยงไส้เดือนดิน และด้านการตลาด จึงทำให้ผลงานที่ออกมามีความน่าสนใจ ต่อคณะกรรมการ และบุคคลทั่วไป อีกทั้งผลงานของเรายังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่อื่นได้น่าจะเป็นความโดดเด่นของผลงานที่ได้รับการคัดเลือก “นางสาววิจิตรา อุ่นแก้ว
จากการเข้าร่วมการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon2021)คัดเลือกสุดยอดระดับภูมิภาคเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนครั้งนี้จนประสบความสำเร็จเป็นตัวแทนพร้อมได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นับเป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่ดูแลพื้นที่ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นพื้นฐาน ประกอบกับวิทยาการความก้าวหน้าของงานวิจัยนวัตกรรมต่างๆมากมายที่พร้อมจะนำออกมาใช้เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนอย่างเต็มความสามารถ ความสำเร็จในครั้งนี้ยังช่วยย้ำถึงเจตนารมณ์การทำงานเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มีความโดดเด่น ซึ่งทั้ง 2 ทีมตัวแทนจะได้เข้าสู่รอบการแข่งขัน แฮกกาธอน ( U2T Hackathon2021)ในระดับประเทศในเดือน พฤศจิกายน 2564 ต่อไป
อุดมชัย สุพรรณวงศ์ / เรียบเรียง
U2T มหาวิทยาลัยขอนแก่น / ภาพ
The success of 2 outstanding prototype projects under U2T of KKU that win in the U2T Hackathon 2021 and prove KKU strength in community responsibilities
https://www.kku.ac.th/11671