สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน นำโดย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรสถาบันฯ ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด จัดอบรมโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพื่อจัดอบรมให้กับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระหว่างวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ผ่านทางออนไลน์ และบรรยายในหัวข้อ กรอบแนวคิดพื้นฐาน “การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์” (Online Learning) และได้รับเกียรติจาก อาจารย์จุไรรัตน์ แสงบุญนำ กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวถึงโครงการความร่วมมือและการดำเนินงานร่วมกัน
การจัดอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้นำวิธีการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ไปใช้ในห้องเรียนของตนเองและสามารถเป็นผู้ให้คำแนะนำ (Coach) ในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญได้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ถึงการจัดการเรียนรู้แบบใหม่และการสะท้อนผลชั้นเรียนในโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach)
ประเด็นการบรรยายในครั้งนี้ ประกอบด้วย
- กรอบแนวคิดพื้นฐาน “การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์”
- การทำให้ชั้นเรียนออนไลน์กลายเป็นชั้นเรียนแบบ Active Learning
- หัวใจของการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์
- ชั้นเรียนแบบใหม่ภายใต้สถานการณ์ New Normal
โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะมีความร่วมมือระยะสั้น ระยะกลาง 3 ปี และ ระยะยาว 10 ปี โครงการที่ดำเนินการครั้งนี้เป็นโครงการระยะสั้น จัดให้กับผู้เข้าร่วมอบรมออนไลน์จากโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และอุดรธานี เป็นครูผู้ได้รับรางวัลมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558, ปี 2560 และ ปี 2562 จำนวน 23 คน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่สนับสนุนนโยบายมหาวิทยาลัย ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ (Academic Service Transformation) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาของสังคม (Center of Social Wisdom) และสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG4)
ข่าว/ภาพ พีรณัฐ เอี่ยมทอง