โครงการทดลองการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาสมรรถนะเชิงนวัตกรรมของผู้เรียน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย คณะศึกษาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีพิธีเปิดโครงการฯ และมีการประชุมในครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ภายใต้สถานะการโควิด – 19 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการและมอบนโยบาย พร้อมด้วย ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมประชุม และได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูผู้เข้าร่วมโครงการฯ โดยมี นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ เป็นผู้กล่าวรายงาน และ รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ในนามหัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมด้วยทีมวิจัยร่วมนำเสนอแผนงานโครงการทดลองการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีพื้นที่ทดลองโครงฯ ทั้งหมด 5 จังหวัดเขตพื้นที่ ได้แก่ ขอนแก่น สกลนคร ลำปาง ชลบุรี และนครศรีธรรมราช มีสถานศึกษาเข้าร่วมทั้งหมด 25 แห่งครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า “โครงการทดลองการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาสมรรถนะเชิงนวัตกรรมของผู้เรียน เป็นการนำผลการวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาลงสู่การปฏิบัติจริงในสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวให้เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังเป็นขับเคลื่อนนโยบาการจัดการศึกษา ของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ท่านตรีนุช เทียนทอง ได้มอบนโยบายไว้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 โดยมอบนโยบายในด้านการปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และการพลิกโฉมระบบการศึกษาด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษา การดำเนินในโครงการนี้เน้นการขับเคลื่อนโดยการสร้างการร่วมมือและมีส่วนร่วม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายส่วนกลางได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในระดับปฏิบัติ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือในระดับสถานศึกษาเป็นหน่วยงานที่อยู่กับผู้เรียน เชื่อมโยงไปยังหน่วยผลิตและพัฒนาครู ซึ่งได้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหลักในการดำเนินงานและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนานวัตกรรมให้แก่โรงเรียนที่ร่วมทดลองในโครงการทดลองฯ โดยคาดหวังว่าโครงการทดลองวิจัยนี้จะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนให้เกิด กระบวนการเรียนรู้ ที่ประกอบด้วย การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การคิดวางแผน การคิดหาแนวทางแก้ปัญหา ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ส่งผลไปถึงกระบวนคิดของนักเรียนและทำให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน”
นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า “เนื่องจากในปี 2563 สำนักงานสภาการศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการวิจัยการออกแบบนโยบายการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต 20ปี ค.ศ. 2040 จากงานวิจัยดังกล่าวได้เสนอเชิงนโยบายระบบการเรียนรู้ใหม่โดยมีหลักการที่สำคัญ เช่น การเน้นผลลับการเรียนรู้เป็นฐานเน้นการเรียนรู้ด้วยระบบนิเวชที่หลากหลาย พลิกโฉมครูจากการเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ออกแบบและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ให้เป็นเรียนมีส่วนในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง และยังได้ข้อเสนอรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ที่จะพัฒนาผู้เรียนมีคุณลักษณ์ที่พึงประสงค์ในอนาคต ได้ 6 รูปแบบ ได้แก่ การเรียนรู้อย่างมีความหมายและมีคุณค่า การเรียนรู้ที่เสริมสร้างศักยภาพเฉพาะบุคคล การริเริ่มการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม การเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง และการเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้ระหว่างเรียน และในปี 2564 สำนักงานสภาการศึกษาได้ปรับประยุกต์งานวิจัยดังกล่าวบ้างส่วนในเรื่องการจัดการเรียนรู้เพื่อนำไปทดลองในห้องเรียนประเด็น “การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะเชิงนวัตกรรมของผู้เรียน” โดยบูรณาการผนวกกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ที่สำนักเลขาธิการสภาการศึกษากำลังดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดผลลับที่พึงประสงค์แก่ผู้เรียนใน 3 ด้าน เป็นผู้เรียนรู้ เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งโครงการศึกษาทดลองในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นคณะนักวิจัยหลัก โดยกิจกรรมการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และการทดลองจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะเชิงนวัตกรรมของผู้เรียน ในสถานศึกษาทดลอง 25 โรงเรียน จาก 5 จังหวัด ทุกภาคของประเทศ โดยได้พิจารณาร่วมกันกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นต้นสังกัด และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่คละขนาด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ร่วมทั้งบริบทในเมืองและนอกเมือง”
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอต้อนรับคณะผู้บริหารและคณะครูผู้เข้าร่วมโครงการการศึกษาทดลองการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือโอกาสสำคัญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศ เพื่อที่จะตอบสนองประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 12 การพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งได้กำหนดแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยพัฒนากระบวนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อพัฒนาทักษาะของผู้เรียนทุกระดับการศึกษา และเปลี่ยนโฮมบทบาทครูให้เป็นครยุคใหม่ ซึ่งการดำเนินงานของโครงการฯ นี้จะช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการแล้วจะนำมาซึ่งข้อค้นพบที่สำคัญ โดยมีแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพลิกโฉมการประเมินการเรียนรู้ใหม่ การพลิกโฉมรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ และการพลิกโฉมทรัพยากรการเรียนรู้ใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นพร้อมเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการผสานความร่วมมือทุกด้านเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สู่การพลิกโฉมระบบการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจใหม่ที่มีความสุขอย่างมีคุณค่า”
รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า “โครงการทดลองการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาสมรรถนะเชิงนวัตกรรมของผู้เรียน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนที่ร่วมทดลอง 25 ท่าน ครูผู้สอนอย่างน้อย 50 ท่าน และนักเรียนอย่างน้อย 500 คน โดยกรอบการดำเนินงาน จะเริ่มทำการ Workshop ในโมดูลที่ 1 ในระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2564 และโมดูลที่ 2 ระหว่างวันที่ 21,22,25 พฤษภาคม 2564 จากนั้นคณะครูและโรงเรียนที่เข้าร่วมเริ่มนำนวัตกรรมไปปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของโรงเรียนและจะมีทีมนักวิจัยเป็นที่ปรึกษา เมื่อได้นวัตกรรมที่สมบูรณ์จึงนำไปใช้ในชั้นเรียน มีระยะเวลาในการทดลองใช้ จะเริ่มในวันที่ 14 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะใช้นวัตกรรมร่วมในการเรียนการสอนอย่างน้อย 30 ชม. พร้อมทั้งมีทีมนักวิจัยร่วมประเมินสมรรถณะของผู้เรียนก่อนและหลังเรียน พร้อมนิเทศติดตามผลโดยใช้หลักการ PLC ที่จะสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยและคณะครูในโรงเรียน ทางทีมวิจัยมีระบบ EduLearn เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำทดลองใช้กับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาและได้ผลตอบรับในระดับดี โดยในการทำงานของทีมนักวิจัยของคณะศึกษาศาสตร์ได้ร่วมประชุมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มาโดยตลอดซึ่งให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการสร้างเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนและทีมนักวิจัย ทั้งยังไม่นำเอาภาระไปตกอยู่กับฝ่ายปฏิบัติคือคณะครูในโรงเรียน ซึ่งทีมนักวิจัยได้เตรียมเครื่องมือเอาไวกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นการใช้ประสบการณ์ของคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ เพื่อที่จะหลอมให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ และได้นวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในเขตพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม ที่จะสร้างและพัฒนานักเรียนของเราเป็นบุคคลที่พึงประสงค์ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21″
ดร.สมหวัง บุญสิทธิ์ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 กล่าวว่า “ถือว่าเป็นความโชคดีที่มีโรงเรียนในเขต สพป. เขต 1 ขอนแก่น เข้าร่วมในโครงการทดลองฯ คือ โรงเรียนหินลาดวังตอ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่อันดับ 3 ของเขตพื้นที่ ถือว่ามีความพร้อมทั้งทรัพยากรและบุคลากร ซึ่งพร้อมที่จะขับเคลื่อนโครงการทดลองฯ ที่จะสร้างเด็กนักเรียนของเราให้มีความเป็น นวัตกร และมีความคาดหวังว่าในอนาคตขยายองค์ความรู้ยังไปโรงเรียนต่างๆ ในเขต”
นางกาญจนา จิตรสำรวย ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 กล่าวว่า “มีความยินดีที่ทาง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และทีมวิจัย ได้คัดเลือกโรงเรียนในเขตพื้นที่ถึง 4 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการทดลองฯ โดยในเขตพื้นที่การศึกษาของเรา มีโครงการที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาที่จะไปสู่นวัตกรรมของนักเรียน ซึ่งโครงการทดลองฯ นี้จะเข้ามาเติมเต็มเพื่อที่จะพัฒนาโรงเรียน การจัดการศึกษา การจัดการเรียนรู้ของครู ตลอดจนนักเรียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น”