วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 6 สำนักงานอธิการบดี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ AI in Healthcare โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าร่วมประชุมพร้อมทั้งยังมีการประชุมระบบทางไกล VDO Conference ระบบ Zoomสำหรับคณะกรรมการในส่วนอื่นๆจากคณะวิชาต่างๆ
การประชุมเริ่มขึ้นในเวลา 15.00 น.รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการ AI in Healthcare กล่าวต่อที่ประชุมว่า กิจกรรมเพื่อการขับเคลื่อนโครงการ AI in Healthcare เราได้มีการประชุมกันมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งครั้งล่าสุดที่เราได้ไปพบปะกันในกิจกรรม AI in Healthcare Clubhouse ที่โรงแรมบายาสิตา ซึ่งวันนี้เราจะได้มาสรุปผลและวางแผนในการเดินไปข้างหน้า
จากนั้น รศ. ดร.นวรัตน์ วราอัศวปติ เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ คนที่ 1 ได้นำเข้าสู่วาระที่ประชุมโดยได้แจ้งให้ที่ประชุมได้ทราบถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการ AI in Healthcare ที่มี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธาน และมีรองอธิการบดีที่เกี่ยวข้องเป็นรองประธาน 3 คนประกอบด้วย รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล และ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ตามลำดับจากนั้นจึงได้มีการนำเสนอข้อสรุปจากการประชุมโครงการ Artificial Intelligence(AI) in Healthcare ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563ทั้งในด้านการส่งเสริมการเรียนการสอน วิชาการ หลักสูตร การพัฒนางานบริการสุขภาพโดยใช้ AI และนวัตกรรมด้านสุขภาพ การจัดการฐานข้อมูลด้านสุขภาพ (Healthcare data set) และการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้าน AI in Healthcare
นอกจากนี้รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ คนที่ 1 ยังได้รายงานถึงการส่งคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมเรียน AI in Healthcare (MIT online course) “Collaborative Data Science for Healthcare”ซึ่งมีคณาจารย์จากคณะต่างๆในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพรวมทั้งคณะวิทยาศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าร่วมจำนวน 54 คนจนมีผลสัมฤทธิ์ได้รับ Certificateเป็นที่เรียบร้อยแล้วจนนำไปสู่กิจกรรม AI in Healthcare Clubhouse เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะแนวทางจนเป็นข้อสรุปมาสู่ที่ประชุมในครั้งนี้ 5 ด้านเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน AI in Healthcare ประกอบด้วย 1.ด้านการบริหารและการจัดการข้อมูล 2.ด้านเครื่องมือและแหล่งทรัพยากร 3.ด้านการสนับสนุนและจูงใจ 4.ด้านการพัฒนาการเรียนการสอน 5.ผลงานที่อยากเห็น
“จากการที่คณาจารย์ได้ลงเรียนในหลักสูตร AI in Healthcare (MIT online course) Collaborative Data Science for Healthcareถือเป็นการเตรียมบุคลากรที่ดีที่สุด ซึ่งผลจากการเรียนในครั้งนี้มีผู้ได้รับCertificate ถึงร้อยละ 80 ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับก็ถือว่าท่านได้ไปเพื่อเรียนรู้ ผมถือว่าทั้ง 54 ท่านเป็นกำลังสำคัญที่จะมาผลักดัน AI in Healthcareต่อไปในอนาคต”รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าว
ในที่ประชุมยังได้มีการหารือเพื่อพิจารณาการขับเคลื่อน AI in Healthcare ในอีกหลายด้านจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยในตอนหนึ่งของการประชุม รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าจากข้อสรุป 5 ประเด็นที่ได้มาจาก AI in Healthcare Clubhouse น่าจะได้นำมาทำแผนโดยเฉพาะในเรื่อง การบริหารและการจัดการข้อมูลที่มีข้อเสนอแนะให้มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลาง Center for AI in Healthcare ซึ่งตีความว่าเป็นข้อเสนอในเชิงโครงสร้างว่าควรจะมี Center for AI in Healthcare เป็นหน่วยงานกลางขึ้นมาในมหาวิทยาลัยหรือไม่เพื่อที่จะให้คณะวิชาที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 คณะได้มาทำงานร่วมกัน ซึ่งถ้าหากสังกัดมหาวิทยาลัยควรอยู่ในกลุ่มของหน่วยงานยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ AI in Healthcare มีตัวตนและมีผู้รับผิดชอบจะเกิดข้อดีที่เกิดศูนย์กลางให้หน่วยงานได้มาทำงานร่วมกัน ส่วนประเด็นของการทำงานก็จะเป็นไปตามทิศทางข้อเสนอทั้ง 5 ประเด็นนั้น ซึ่งหากเราเห็นว่าเราควรมี Center for AI in Healthcareในเชิงโครงสร้างที่มีผู้รับผิดชอบหลักโดยที่คณะกรรมการก็จะมีบทบาทสนับสนุนการดำเนินงาน
สำหรับโครงการ AI in Healthcare นั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับนโยบายเพื่อการพัฒนามาจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินโครงการปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพ (AI for Healthcare) โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีอธิการบดีเป็นประธาน ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยในการเป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการมาอย่างต่อเนื่อง
ข่าว – อุดมชัย สุพรรณวงศ์
ภาพ – อรรถพล ฮามพงษ์