มข.มอบโล่เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2563

……………เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรม จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2563  เนื่องในโอกาสมหามงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย  โดยมี  รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  พร้อมด้วย ดร.เอื้อนจิต พานทองวิริยะกุล  ภริยา  รศ.ดร.นิยม  วงศ์พงษ์คำ  รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์   รศ.ดร.ไมตรี  อินทร์ประสิทธิ์  รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ   อาจารย์ลัดดาวัลย์ สีพาชัย  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม  และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมให้การต้อนรับ   นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ให้เกียรติเป็นประธาน  และเป็นผู้กล่าวคำถวายอาเศียรวาทราชสดุดีและคำกล่าวถวายชัยมงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพ  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

……………พิธีเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2563  เป็นโอกาสมหามงคลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2563  ขึ้น  เพื่อเชิดชูเกียรติอมรศิลปินมรดกอีสานผู้ล่วงลับ  แต่ยังคงเป็นตำนานและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไป ศิลปินมรดกอีสานผู้เป็นต้นแบบการสร้างสรรค์ผลงานแขนงต่างๆ ทั้งทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และ ศิลปะการแสดงรวมทั้งผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ที่เป็นแบบอย่างของการพัฒนาสังคมด้วยฐานรากด้านวัฒนธรรมอีสาน

……………ศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2563  มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พิจารณาคัดเลือกศิลปินผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างเข้มข้น  โดยแบ่งตามสาขา  ดังนี้
…………………รางวัลอมรศิลปินมรดกอีสาน

นางบุญถม  นามวันทา  ศิลปินผู้มีผลงานโดดเด่นในศิลปะการแสดง “หมอลำเรื่องต่อกลอน” ทำนองขอนแก่น และเป็นผู้ก่อตั้งคณะประถมบันเทิงศิลป์

…………………รางวัลศิลปินมรดกอีสาน

สาขาทัศนศิลป์

นายสุรพล   ปัญญาวชิระ                        สื่อผสม

ศ.เกียรติคุณ กัญญา เจริญศุภกุล        ภาพพิมพ์

นายสมาน  คลังจัตุรัส                             จิตรกรรม

นายสุวัฒน์  สุทธิประภา                         ประติมากรรมพื้นบ้าน

สาขาวรรณศิลป์

นายวิชชา  ลุนาชัย หรือ ประชาคม ลุนาชัย         วรรณศิลป์

สาขาศิลปะการแสดง

นางกานดา ส่องศรี หรือ หมอลำบุญยัง สุภาพ                             หมอลำกลอน

นายบุญถือ หาญสุริย์  หรือ หมอลำบุญถือน้อย ไทยราษฏร์        หมอลำเรื่องต่อกลอน

นางพัชรี พาพินิจ หรือ หมอลำพัชรี  แก้วเสด็จ                            หมอลำกลอนประยุกต์

…………………รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์
สาขาหัตถกรรม

นายสมใจ ปัดตะชาวี                              ช่างทำกลอง

สาขานิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

นายสีหา มงคลแก้ว

พระนิเทศศาสนคุณ หรือ สมาน สิริปัญโญ

สาขาวิสาหกิจชุมชน

กลุ่มแปรรูปอาหารบ้านห้วยเสือเต้น

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านห้วยบง

สาขาศิลปกรรม

นางเลิศนภา สิงห์วงศ์  หรือ หมอลำเลิศนภา กระทิงทอง             หมอลำกลอน

นางสาวรัศมี  อาลัยรัก  หรือ หมอลำรัศมี  อาลัยรัก                     หมอลำกลอน

นายสุวิทย์  สารเงิน                                                                    หมอลำกลอน

สาขาศาสนาและประเพณี

พระภัทรธรมสุธี (สุพัฒน์ สุวฑัฒโน)

……………ในปีนี้ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาเกษตรกรรม สาขาแพทย์แผนไทย  และสาขาภาษาและวรรณกรรม ไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือก

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

……………รศ.ดร. นิยม  วงศ์พงษ์คำ  กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นคือขุมปัญญาแห่งอีสาน เป็นมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนงานของสังคมและวัฒนธรรมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลมังของอีสาน งานศิลปะที่เป็นรากของวัฒนธรรมอีสานที่เรานั้นเรียกกันว่าศิลปินมรดกอีสาน ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่เราจะต้องร่วมกันส่งเสริม อนุรักษ์ เผยแพร่ ซึ่งคำว่าส่งเสริมจะต้องเฟ้นหาหรือค้นหาคนที่มีผลงานดีเด่นทางด้านศิลปะวัฒนธรรมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นในด้านทัศนศิลป์ วรรณกรรม กิจกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หรือทุก ๆ ด้านที่เราเห็นว่าท่านเหล่านั้นมีประสบการณ์ในการสะสมผลงานจนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นศิลปิน จนกลายเป็นศิลปินที่เรียกว่ามรดกของอีสาน โดยคำว่ามรดก คือ ศิลปินที่มีคุณค่าที่เราควรจะยกย่อง เชิดชูเกียรติ และนอกจากรางวัลศิลปินมรดกอีสานแล้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังต้องการที่จะสร้างคนที่มาต่อชั้นยอดสุด เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ ซึ่งอาจจะเป็นศิลปิน แต่เนื่องด้วยวุฒิภาวะ ผลงาน หรืออะไรต่าง ๆ ก็ต้องรอที่จะต่อคิว โดยกำลังจะกลายเป็นชั้นที่สมบูรณ์ ชั้นรอง ชั้นยอด และชั้นราก โดยสำหรับชั้นราก มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ยังมองว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเฉพาะชั้นกลาง ชั้นสูง โดยปราศจากชั้นซึ่งเป็นราก ก็มีโครงการที่จะสร้างศิลปิน และยุวศิลปินต่าง ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นี่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะสร้างรากฐาน ส่วนกลาง และก็ส่วนยอดพร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้น เมื่อถึงส่วนที่เป็นยอดแล้ว ก็จะต่อเป็นยอดสูงสุดของประเทศนี้ที่เราเรียกว่า ศิลปินแห่งชาติ โดยมีศิลปินมรดกอีสานจำนวนไม่น้อยที่ได้รับรางวัลจากเรา แล้วก็ต่อยอดเป็นศิลปินแห่งชาติ นี่คือความสำคัญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่อยากจะเห็นจากรากที่เป็นยุวศิลปิน เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์หรือศิลปะสัมพันธ์ จากนั้นก็เป็นศิลปินมรดกอีสานก็จะครบถ้วน”

……………“สำหรับปีนี้เนื่องจากเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน  ที่เดิมจะมีความยิ่งใหญ่ มีความอลังการ ศิลปินที่มาร่วมงาน ทั้งนักร้อง นักแสดง ดารา จะนำผลงานแสดงมาให้ร่วมชื่นชม และมีผู้เข้าร่วมงานมีจำนวนมาก  ดังนั้น ปีนี้จึงได้จัดขึ้นมาในรูปแบบที่เรียบง่าย แต่ยังคงความงดงามสมพระเกียรติแห่งพระองค์ท่าน  และสมเกียรติของศิลปินมรดกอีสานเช่นเดิม”  รศ.ดร. นิยม  วงศ์พงษ์คำ กล่าวในที่สุด

……………งานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2564 เป็นกิจกรรมการอนุรักษ์สืบสาน และสร้างคุณค่าศาสนาศิลปวัฒนธรรมไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง  นอกเหนือจากการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาอนุรักษ์และจัดการความรู้ด้านวัฒนธรรม ทั้งการบูรณาการความรู้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของภูมิภาคอีสานเข้ากับการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแล้ว  ยังคงพัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการงานด้านทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม  มีการอนุรักษ์สืบสาน และสร้างคุณค่าศาสนา ศิลปวัฒนธรรมไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ําโขง  รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรบุคคลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยศิลป์และศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าว     :   วัชรา  น้อยชมภู
ภาพ    :   วัชรา  น้อยชมภู  /   ชายชาญ  หล้าดา

Scroll to Top