คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมต้อนรับ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้่นฐาน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าววัตถุประสงค์ในการจัดประชุม “การประชุมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุม 1507 ชั้น 5 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมเป็นคณะผู้บริหารคณะฯ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยการประชุมในครั้งนี้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้่นฐาน ได้ฉายภาพทิศทางของการพัฒนาครูของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพิ้นฐาน (สพฐ.) ร่วมถึงแนวทางการปฏิรูปทางการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโรงเรียนทั่วประเทศ มุ่งหวังให้คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหน่วยผลิตบัณฑิตวิชาชีพครูได้ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถพร้อมด้วยทักษะในด้านต่างๆ เพื่อออกไปรับใช้สังคมและตอบสนองหน่วยงานทางการศึกษาและทิศทางนโยบายของประเทศ ทั้งนี้ยังหารือแนวทางการรับผิดชอบต่อบัณฑิตที่ได้ผลิตออกไปเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะให้ก้าวทันต่อการปรับเปลี่ยนของโลกในอนาคต โดยภายหลังจากการประชุม รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ได้นำ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เยี่ยมชมผลงานวิจัยตลอดจนการสาธิตนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยของคณาจารย์ และนักวิจัยของคณะศึกษาศาสตร์ ที่พัฒนาเสริมทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะดิจิทัล ทักษะทางด้านโค้ดดิ้ง ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ และปัญญาประดิษฐ์(AI) พร้อมร่วมพูดคุยกับกลุ่มนักวิจัยเพื่อที่จะเตรียมนำนวัตกรรมต่างๆ ลงทดลองใช้ในโรงเรียนของ สพฐ. เพื่อช่วยในการแก้ไขและส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่มีปัญหา และสร้างเป็นโมเดลการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาพร้อมทั้งขยายผลไปสู่โรงเรียนต่างๆ ของ สพฐ.
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า การเดินทางมามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหลักใน 2 เรื่องคือ เพื่อสื่อสารความร่วมมือระหว่าง สพฐ.กับสถาบันอุดมศึกษา ในการที่จะยกระดับคุณภาพผู้เรียนร่วมกัน เพราะการจะพัฒนาคุณภาพให้ประสบความสำเร็จได้ ลำพังจะอาศัยหน่วยใดหน่วยหนึ่งไม่มีทางสู่ความสำเร็จ นอกจากว่าทุกคนจะมาร่วมมือกัน ใครมีศักยภาพ มีความสามารถด้านใด ก็ต้องมาช่วยกัน เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กอนุบาลในวันนี้ก็คือต้นพันธุ์ที่จะมาต่อประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตคนไปสู่ตลาด หากฐานต้นพันธุ์ไม่ดีมาตั้งแต่อนุบาล ประถม และมัธยม ก็จะได้คนที่ไม่มีคุณภาพมาเช่นกัน เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ที่มีหน้าที่สร้างคนให้กับชาติ ต้องมาผนึกกำลังกัน ในการที่จะช่วยกันผลิตคนดี คนเก่งในอนาคต โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ ซึ่งก็คือการออกแบบหลักสูตร เพื่อมาร่วมมือกันในการแสวงหานวัตกรรม ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ทุกคนต่างก็บอกว่าสิ่งนั้นคือปัญหา
ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงจะต้องใช้นวัตกรรมอะไร แล้วใครจะร่วมกับใคร ถ้าทุกคนมาช่วยกัน ก็จะมาช่วยซ่อมในสิ่งที่บกพร่องเป็นปัญหาในปัจจุบัน จากนั้นจะกลายเป็นจุดแข็ง จะส่งผลหรือเห็นผลของการศึกษาในอีก 20 ปี ข้างหน้า จึงจะเห็นผลของความสำเร็จ อาทิ นวัตกรรมที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำเสนอ ที่เห็นชัดเจน คือการผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในบางเรื่อง หรือเฉพาะเรื่อง เฉพาะประเด็น ค่อนข้างชัด เช่น การจัดสอนโค้ดดิ้งในระดับชั้นอนุบาล การสอนกระบวนการคิดในชั้นอนุบาลและชั้นประถม รวมไปถีงการสอนวิชาเคมี การสอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เด็กไม่ให้ความสนใจ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
ทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็มีนวัตกรรมในการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างดี หากจะให้เกิดประโยชน์ที่สูงสุดจริง ๆ ตนคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้นวัตกรรมเหล่านี้มาเป็นจิ๊กซอว์ต่อกันให้เป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 -6 จากนั้นมาวิเคราะห์ดูว่ายังมีปัญหาอะไรอยู่บ้างในแต่ละระดับชั้น รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเคยสร้างขึ้นมาทั้งหมด ว่าจะเอามาบูรณาการลงในจิ๊กซอว์ต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไรในระบบ เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนในแต่ละระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้ทั้งระบบ ก็สามารถที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้ ไปทดลองในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งของ สพฐ.ได้ทั้งแพ็คเก็จเลย ก็จะทำให้เห็นเป็นโมเดลในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งโรงเรียน โดยในช่วงเริ่มต้นอาจมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการในปีแรก ประมาณ 2 – 3 โรงเรียนก่อน และมีโครงการขยายผลเพิ่มขึ้นอีกในปีถัด ๆ ไป ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.กล่าวในที่สุด
ทางด้าน รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากแนวทางที่ท่าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.ได้กล่าวไว้ ทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหน่วยผลิตครูเพื่อออกไปรับใช้สังคม ตามความมุ่งหวังของหน่วยงานทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. ก็น้อมรับในแนวทางดังกล่าว ดังนั้นทางคณะศึกษาศาสตร์ จำเป็นที่จะต้องมีการวางเป้าหมายอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อแก้ปัญหาในระดับชั้นต่าง ๆ ตามแนวทางที่ท่านเลขาธิการ กพฐ.ได้กล่าวไว้
ซึ่งในขณะนี้ คณะศึกษาศาสตร์ ก็มีผลงานนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยทั้งของอาจารย์ และของนักศึกษา ในระดับต่าง ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทักษะดิจิทัล ทักษะทางด้านโค้ดดิ้ง และปัญญาประดิษฐ์(AI) ดังนั้นต่อไปก็คือการนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทดลองและนำร่องใช้แล้วในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อไปคงขยายผลและนำร่องในโรงเรียน สังกัด สพฐ. เพื่อถอดองค์ความรู้ ถอดบทเรียนออกมาปรับปรุงและใช้เป็นโมเดลต้นแบบในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และขยายผลไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ของ สพฐ.ต่อไป
และหลังจากนั้น ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้่นฐาน ในฐานะศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การศึกษาวิถีใหม่ แรงบันดาลใจและจิตวิญญาณความเป็นครู” ได้เล่าถึงเส้นทางประสบการณ์ในการทำงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีในการประกอบวิชาชีพครู โดยมีผู้เข้าร่วมเป็น นักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กว่า 200 คน ณ ห้องประชุมสายสุรี จุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น