……………การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ไม่สามารถหางานทำได้ รวมถึงนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประชาชนที่ว่างงานย้ายกลับถิ่นฐานจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัฐจึงพึ่งพากลไกจากมหาวิทยาลัยของรัฐกว่า 80 แห่งที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ให้ทำหน้าที่เป็น System Integrator บูรณาการกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based System Integrator) ในระดับตำบล โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีอยู่ ทำงานประสานและร่วมงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การทำงานบูรณาการนี้ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลที่สามารถนำไปสู่การลดความยากจนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน
……………มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การนำของ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีทรัพยากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี มีความถนัดและความชำนาญของแต่ละแขนงวิชา จึงได้อาสาดำเนินโครงการช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤต COVID ระยะ 1 ปี ภายใต้โครงการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ : U2T ขึ้น มีบทบาทในการรับผิดชอบ 135 ตำบล และดูแลเครือข่ายกว่า 200 ตำบล มีคณะรับผิดชอบหลัก 16 คณะ แบ่งหน้าที่ดำเนินการโดย ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ รับผิดชอบส่วนกลาง มีคณะวิชาต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการรายตำบล ประกอบด้วย คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะศิลปกรรม วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น คณะสหวิทยาการ วิทยาเชตหนองคาย วิทยาลัยนานาชาติ และสำนักบริการวิชาการ โดยมีคณะศึกษาศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตร Language Literacy-Social Literacy คณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตร การใช้ดิจิทัลยุค New Normal และ ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นคณะทำงานประเมินผลทางสถิติ
……………ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ นำคณะทำงานดำเนินโครงการช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤต COVID ระยะ 1 ปี ภายใต้โครงการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ : U2T เข้าสู่ระยะที่ 2 โดยมี นายนรุตม์ อังวราวงศ์ ผู้จัดการโครงการนำร่องวิสาหกิจการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม และเป็นศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินโครงการอย่างเต็มศักยภาพ
……………นายนรุตม์ อังวราวงศ์ กล่าวว่า “โครงการ U2T ถือเป็นโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ถือกำเนิดขึ้นเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 โดยเป็นการการจ้างงานเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จัดทำขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งทำให้เห็นโอกาสในการจ้างงานในชุมชน โดยจัดตั้งงบประมาณของโครงการ 800,000 บาทต่อตำบล จ้างงาน 20 อัตราผ่านทางมหาวิทยาลัย เป็นโครงการจากส่วนกลาง จึงทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและให้การยอมรับและให้ความสำคัญอย่างมาก จึงมีการคอยดูแลโดยมอบหมายหน้าที่ลงมาตามสายบังคับบัญชา อีกทั้งชุมชนก็ค่อนข้างมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสร้างเม็ดเงินภายในชุมชน ทั้งยังส่งเสริมให้ลูกหลานในตำบลมีงานทำ ประชาชนมีงานทำ และสามารถพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน”
……………“นรุตม์ อังวราวงศ์” กล่าวต่อไปว่า “เงื่อนไขระยะเวลาของโครงการมีเพียง 1 ปี จึงได้มีการวางแผนเป็น 4 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 การเตรียมทีม Training สำหรับเฟสนี้มีการเริ่มต้นก่อนการดำเนินโครงการโดยจัดตั้งทีมงานขึ้นมา เพื่อให้มีความพร้อมในการทำงาน เฟสที่ 2 Quick Win การเข้าหาชุมชนเชิงลึก โดยเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาในชุมชนที่สามารถแก้ได้เร็วและง่ายแต่ส่งผลดี ถือเป็นการซื้อใจชุมชนอย่างหนึ่งเพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เฟสที่ 3 การนำโจทย์เพื่อไปเชื่อมโยงกับเครือข่าย ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญที่สุด ใช้เวลา 6 เดือน โดยจะเจาะปัญหาเชิงลึก และนำไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายว่าจะเข้าไปลงพื้นที่ในการพัฒนาชุมชนส่วนใด ในลักษณะ Group Resource โดยที่สามารถเอาเครื่องมือตัวเดิมจากผู้เชี่ยวชาญไปใช้ร่วมกันกับชุมชนได้ทั้งหมด และ เฟสที่ 4 การถอนตัวออกจากชุมชน โดยจะใช้ระยะเวลา 2 เดือนสุดท้ายเมื่อชุมชนเกิดความเข้มแข็งระดับหนึ่ง จะดำเนินการสร้างโครงสร้างเป็นลักษณะของวิสาหกิจ เพื่อส่งต่อความรู้ มอบกลไกการทำงานให้ผู้นำชุมชนและสังคมเพื่อเกิดการต่อยอด สร้างรายได้ โดยยังขอคำแนะนำและปรึกษาต่อได้ ขณะนี้ลงพื้นที่ครบ 44 ตำบลแล้ว อยู่ในเฟสที่ 2”
……………ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม กล่าวว่า “ที่มาของการทำงาน U2T ของคณะเศรษฐศาสตร์ เริ่มจากที่คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการบริหารของเครือเบทาโกร และเป็นอดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ที่มีแรงบันดาลใจมากในการช่วยเหลือชุมชน ได้นำผู้จัดการโรงงานหรือผู้บริหารระดับสูงไปช่วยเหลือชุมชนเป็นประจำ และพบว่าเมื่อคนเก่งลงทำงานทำให้เห็นผลลัพธ์ค่อนข้างชัดเจน จึงได้แนวคิดนำคนเก่งมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมช่วยชุมชน โดยจ่ายเงินเดือนให้มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ และแนวคิดนี้คณะเศรษฐศาสตร์จึงได้นำมาทดลองทำร่วมกับสำนักบริการวิชาการ ที่ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น โดยจ้างศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์มาทำงานกับสำนักบริการวิชาการ แต่ต่อมาเป็นการจ้างงานช่วงโควิด-19 จึงทำงานกับคณะเศรษฐศาสตร์ และออกแบบการประเมินให้ ทำให้เริ่มเรียนรู้การทำงานอย่างแท้จริง พบว่าเมื่อได้คนเก่งมาบริหารชุมชน และดึงเอาวิชาการของมหาวิทยาลัยเข้าไปใช้ จะได้ประโยชน์อย่างมาก ทำให้ชุมชนไม่บอบช้ำ สามารถขยายเจริญก้าวหน้า ในขณะเดียวกันการให้บริการวิชาการของเราก็สามารถให้ได้เต็มที่”
……………“นอกเหนือจากโครงการ U2T คณะเศรษฐศาสตร์ได้นำงบประมาณที่อาจารย์จะนำไปเสนอผลงานที่ต่างประเทศ แต่ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จึงนำงบประมาณมาเปลี่ยนเป็นการจ้างงานแทน และตั้งชื่อการเรียนการสอนว่า Economic Playground หรือ สนามเด็กเล่นของคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อจะทำให้เหมือนกับว่าเอาโจทย์ในวิชาต่าง ๆ ไปทำอะไรในตำบลบูรณาการ เช่น ด้านงานวิจัยหากอาจารย์มีความสนใจและมีปัญหาท้องถิ่นที่สามารถเป็นงานวิจัยได้ ก็จะมีงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยนั้น ด้านโครงการบูรณาการก็จะทบงบประมาณที่เกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนของคณะเศรษฐศาสตร์เข้าไป งบของงานวิจัยในเชิงลึก และมีการจ้างงานศิษย์เก่าให้มาร่วมทำงานร่วมเป็นภาพรวม โดยนอกจากนี้ก็จะมีทีม E-san Inside, E-san Outlook เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของอีสาน จากการทำงานเชิงบูรณาการตำบลบูรณาการด้วย”
……………“สำหรับโครงการตำบลบูรณาการ มีแนวคิดหลัก คือการจ้างงาน แล้วนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเข้าไป นั่นก็คือแนวคิดหลักของการเป็นดึงคนเก่งกลับมาบ้าน เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 คนไม่มีงานทำจำนวนมาก บัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำ จึงมาเป็นที่มาของการทำงานร่วมกันเป็นสามประสาน ระหว่างบัณฑิตใหม่ ศิษย์ปัจจุบัน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อ ให้รู้ปัญหาที่แท้จริงของชุมชน จะได้นำพาองค์ความรู้ของคณาจารย์เข้าสู่ชุมชนได้ แม้คณะเศรษฐศาสตร์จะปวารณาตัวเพื่อจะเป็นสนามทดลองที่อยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนจริง ๆ แต่ไม่เก่งเรื่องชุมชน คณะเศรษฐศาสตร์จึงเป็นตัวกลางค้นหาปัญหาในชุมชน วางกลไก แผนงาน และบริหารจัดการอำนวยความสะดวกให้คณะวิชาเพื่อให้ทำงานในชุมชนได้ง่ายขึ้น มีการจัดระบบองค์ความรู้ให้บริการ โดยมีคณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนนำพาองค์ความรู้ศาสตร์แต่ละด้านออกไปช่วยชุมชน” ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม กล่าวในที่สุด
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู
ข้อมูลข่าว : กมลชนก จันทะโชติ นศ.ฝึกสหกิจศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Faculty of Economics stepping ahead with the U2T Project, from University to Sub-district, with an aim to strengthen the country’s taproots