มข. ผนึก สวทช. ตอบรับนโยบาย BCG แก้ปัญหาฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

ในวงการอุตสาหกรรม การเกษตร การแพทย์ และการท่องเที่ยว รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ ทุกวงการคงต้องทำความรู้จักกับคำว่า “BCG Economy” มากขึ้น  เพราะรัฐบาลไทยกำลังกระตุ้นให้โมเดลนี้เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด กระทั่งมีการตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะช่วยเพิ่ม GDP ของไทย เป็น 4.3 ล้านล้านบาท ที่สำคัญจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมของไทยให้สมบูรณ์ รวมถึงจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDG) ขององค์การสหประชาชาติด้วย BCG จึงถูกยกให้เป็นโมเดลที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยใช้การต่อยอดจากโมเดลเดิมที่รัฐบาลพยายามผลักดันอยู่ แต่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จึงร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) หารือแนวทางความร่วมมือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมคณะทำงาน ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.30 น. – 12.00 น. ที่ผ่านมา

BCG ย่อมาจากโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้านได้แก่  Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ)  เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิม นั่นก็คือ ทรัพยากรชีวภาพ หรือผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน)  คือการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญคือ ZERO WASTE ลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์  Green Economy (ผสานเศรษฐกิจสีเขียว) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เอมไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อการฟอกกระดาษ เป็นต้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช.

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่า สวทช.มีความประสงค์พัฒนาเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี พร้อมด้วยการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากร จากความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมุ่งเจรจาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เพื่อเพิ่มพูนมูลค่าทรัพยากรชีวภาพด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มุ่งสู่การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ตอบสนองนโยบายรัฐโดยใช้โมเดล BCG ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีองค์ความรู้ทุกด้าน โดยเฉพาะความโดดเด่นด้านการเกษตรและการแพทย์ บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งต่อสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นอาหารและสารมูลค่าสูง และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพและพลังงานชีวภาพ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก

ทั้งนี้รัฐบาลโมเดลดังกล่าว ได้ออกแบบอย่างครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น S-Curve ทั้งหมด 4 อุตสาหกรรม ได้แก่  อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร   อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ  อุตสาหกรรมการแพทย์และ และ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ BCG อยู่แล้ว มีการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองนำไปสู่การฟื้นตัวของภาคเกษตรอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมเกษตรกรรมโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจจำพวก ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่ ลดปริมาณของเสียที่อาจะเกิดขึ้นจากระบบอุตสาหกรรม โดยใช้นวัตกรรมแบบครบวงจรมาช่วยในการผลักดัน อาทิ เป็นโซล่าฟาร์มลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ในส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นพยายามมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำโดยขยายมาตรฐานความร่วมมือกับเอกชนในภาคเกษตร นำไปสู่การสร้างความมั่นคงและมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว  ฉะนั้นการเจรจาความร่วมมือ ทั้งด้านการวิจัย และการพัฒนาบุคลากร กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติครั้งนี้ จึงไม่ติดขัดแต่อย่างใด พร้อมให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือเพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างแท้จริง ”

จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ระบุถึงโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจของไทยว่า เดิมไทยมีการพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก ประชากรส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคเกษตรกรรม สอดคล้องกับสถิติของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2556 ที่ระบุไว้ว่า แรงงานในภาคเกษตรมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 32.3  ซึ่งสูงมากหากเทียบกับแรงงานภาคอื่น ๆ จากทั่วประเทศ แต่รายได้ภาคเกษตรกลับสวนทาง ทำให้แรงงานด้านนี้ลดน้อยลง  รัฐบาลจึงคาดหวังว่าระบบเศรษฐกิจ BCG  ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยและพฤติกรรมคุณรุ่นใหม่ในการใช้เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญที่เข้ามาหนุนเสริม ขับเคลื่อนโมเดลดังกล่าว โอบอุ้มเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้เติบโต ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยได้อย่างแท้จริง

ภาพ ณัฐพงษ์ ชำนาญเอื้อ

บทความ จิราพร ประทุมชัย

KKU joins NSTDA in responding to BCG policy that aims at solving foundation problems and upgrading Thai people’s quality of life

https://www.kku.ac.th/9890

Scroll to Top