มข.จัดประชุม การพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกัน เตรียม MOU เอกชนร่วมสร้าง passport วัคซีน

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.00 น. รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานในการประชุมหารือเรื่อง การพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันและหนังสือเดินทางสุขภาพด้วยเทคโนโลยีบล็อกเซน (Immunization Information System and Blockchain-based Health Immunity Passport) ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท เมดิเซนส์ อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ในการนี้มี รองศาสตราจารย์เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์อภิชาต จิรวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ชลธิป พงศ์สกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์กลางบริการสุขภาพชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์เนสินี ไชยเอีย หัวหน้าสำนักงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะแพทยศาสตร์ นายแพทย์ธนภพ ณ นครพนม นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ และนายแพทย์เดโชวัต พรมดา ประธานกรรมการบริหาร นายเมธัส แก้วทรายขาว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี จากบริษัทเมดิเซนส์อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การประชุมหารือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลรูปแบบแผนงานการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันและหนังสือเดินทางสุขภาพด้วยเทคโนโลยีบล็อกเซน รวมไปถึงการหาแนวทางความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย เพื่อนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน

นายแพทย์ธนภพ ณ นครพนม นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นายแพทย์ธนภพ ณ นครพนม นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ ว่า เป็นระบบดิจิทัลที่ต้องการพัฒนาให้บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยระบบจะบันทึก จัดเก็บ และตรวจสอบข้อมูลการให้วัคซีน ซึ่งจะมีประโยชน์กับทั้งผู้ได้รับวัคซีนและผู้ให้บริการวัคซีน โดยมีฟังก์ชันการทำงานที่สำคัญ อาทิ

1) ระบบจัดเก็บและบันทึกข้อมูลของภูมิคุมกัน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งผู้ได้รับวัคซีนและผู้ให้บริการวัคซีน

2) ระบบช่วยวิเคราะห์ประเภทวัคซีนที่จำเป็นและเหมาะสมรายบุคคล โดยพิจารณาจากข้อมูลของผู้รับวัคซีน เช่น วัคซีนที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารคัดหลั่งที่อาจก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ รวมไปถึงการแจ้งเตือนการรับวัคซีน วันและเวลาในการรับวัคซีนครั้งถัดไป

3) ระบบออกใบรับรองการได้รับวัคซีน (vaccination certificate)

4) ระบบติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน

5) การให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน เช่น ความเสี่ยงและประโยชน์ของการรับวัคซีน

ระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ นี้จะพัฒนาโดยอ้างอิงแนวทางขององค์การอนามัยโลก Centers for Disease Control and Prevention ประเทศสหรัฐอเมริกา และ European Centre for Disease Prevention and Control สหภาพยุโรป และพัฒนาบนมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ HL7 FHIR มาตรฐาน W3C Verifiable Credential

รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า การดำเนินการของระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันและหนังสือเดินทางสุขภาพ จะเชื่อมโยงกับด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมไปถึงการเปิดประเทศ ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 มีส่วนอย่างยิ่งที่เร่งให้การดำเนินการเรื่องนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว

“ภาคเอกชนประกาศว่าขอให้วัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เราจะเปิดประเทศไม่ได้ ถ้าไม่มีระบบพาสปอร์ตวัคซีน ฉะนั้นโควิด-19 มีส่วนอย่างยิ่งในการเร่งการดำเนินงาน ในการจัดการโครงการนี้จะมีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะทำงานหลัก โดยตั้งคณะทำงานมาชุดหนึ่งมีอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นที่ปรึกษา ต่อจากนั้นจะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในลำดับถัดไป”

ทั้งนี้แผนการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ แบ่งเป็นทั้งหมด 2 ระยะหลัก ระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ เพื่อใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะที่ 2 ขยายระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ เพื่อใช้สำหรับบุคลากรทั้งหมดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ เมื่อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้วสามารถขยายผลเพื่อใช้สำหรับนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้

ข่าว/ภาพ  : รวิพร สายแสนทอง /ณัฐพงษ์ ชำนาญเอื้อ

KKU holds a meeting on development of immunity system, with a plan to enter an MOU with private sector for issuing a health immunity passport

https://kku.ac.th/8497

 

         

 

 

Scroll to Top