รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ พร้อมด้วย ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ นำบุคลากรสำนักบริการวิชาการ ผู้รับผิดชอบประสานงานพื้นที่ ประชุมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานและหาความต้องการ “โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ร่วมกับผู้บริหาร องค์การบริหารส่วนตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564
รศ.ดร.ไมตรี อินทรประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงที่มาของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ว่า “กลุ่มเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศ ร้อยละ 10 เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ร้อยละ 30 เป็นธุรกิจ SMEs และ ร้อยละ 60 เป็นเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาเศรษฐกิจผ่านทางบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีร้อยละ 10 ของประเทศ เพื่อให้ลาก SMEs และ ฐานราก จะทำเกิดการกระจุกตัวของคนรวยมากเกิดไป ส่วนที่ผ่านมาประเทศไทยหวังพึ่ง SMEs ในช่วงนี้ SMEs ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงได้หวังพึ่งเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 60 ของประเทศ จึงเกิดโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้ ทักษะขึ้นสูง ไปช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจรายตำบลแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ซึ่งสำนักบริการวิชาการดูแล 9 ตำบล ภูเวียง 4 ตำบล ภูผาม่าน 4 ตำบล มัญจาคีรี อีก 1 ตำบล”
รศ.ดร.ไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “รูปแบบกิจกรรมที่จะดำเนินงานในพื้นที่ จะใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนา (School Based) เพราะหวังให้เกิดความยั่งยืน เยาวชนเรียนรู้การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน พาชุมชนกิจกรรมที่หลากหลาย และเขาจะไม่ทิ้งถิ่นฐานในอนาคตด้วย”
จากนั้น นายสมสิน เชื่อวงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเค้า ได้เล่าถึงจุดแข็งของพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางการทำกิจกรรม โดยพื้นที่ต.กุดเค้านั้น มีพื้นที่ติดริมน้ำชี ในหลาย ๆ หมู่บ้าน ทำให้ประชาชนมีอาชีพหลักในการเกษตร ปลูกข้าว อ้อย ปลูกผักเป็นอาชีพเสริม มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งทาง อบต. มีแผนที่จะพัฒนาให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อน ออกกำลังกาย รวมถึงสร้างพัฒนาให้เป็นตลาดน้ำ สร้างรายได้ให้กับชุมชนในอนาคต
นายประภาส ปรีชาเลิศ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเค้า ได้กล่าวถึงความต้องการในการเสริมสร้างความรู้ด้านวิชาการให้กับชาวบ้านทั้งในด้านการเกษตรกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน สร้างเสริมรายได้ รวมถึงปัญหาการจัดการขยะในชุมชน
นางลัคน์ลดา ชารีชัย ผู้อำนวยการส่วนการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงความต้องการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ร่วมกับศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนภายในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีความยั่งยืนสำหรับคนในชุมชน