เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 เวลา 9.00 น. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ผศ.ดร.นรินทร์ จันทร์ศรี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ รศ.ทพญ.ดร.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ และ ผศ.ดร.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร ผู้อำนวยการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2563 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ที่ออกฝึกภาคสนามร่วมปฏิบัติการเป็นแบบกระบวนการเรียนรู้และเนื้อหาในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพทำงานร่วมกัน หรือ IPE Inter-professional Education โดยมี นศพ.ธัญพิสิษฐ์ พนาวัลย์ นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 พร้อมด้วยคณะทำงานให้การต้อนรับ ณ วัดท่าประชุม ต.หนองบัว อ.บ้านฝาง และชุมชนบ้านดอนดู่ หมู่ 4 ต.หนองบัว อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ” ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นคณะหลักในการจัดกิจกรรม ที่ต้องขอความร่วมมือจากทุกพื้นที่เพื่อช่วยให้เด็กของเราได้เข้ามาสัมผัสและเข้ามาเรียนรู้ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็กผู้เข้าร่วมกิจกรรม และชุมชน หากมีข้อผิดพลาดหรือขัดข้องในการดำเนินงานก็ขอให้แก้สถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง ขอขอบคุณและขอฝากนักศึกษาไว้กับพี่น้องชุมชนด้วยครับ ”
ผศ.ดร.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร อาจารย์จากแขนงวิชาทันตสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ ผู้อำนวยการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2563 กล่าวว่า “การฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2563 เป็นครั้งที่ 38 ใช้พื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.น้ำพอง อ.ซำสูง อ.บ้านฝาง อ.บ้านแฮด จำนวนนักศึกษา 694 คน การฝึกภาคสนามในปีนี้ เป็นความยากลำบากที่เป็นการฝึกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 แต่สามารถจัดการได้ นักศึกษาจำเป็นต้องทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่วัตถุประสงค์การเรียนรู้ของเราทุกอย่างยังเข้มแข็งและครบถ้วนเหมือนเดิม นักศึกษาได้ฝึกการทำงานกับชาวบ้าน ฝึกการทำงานร่วมกันกับเพื่อน ในเรื่องของวิถีชุมชน การทำงานบริการกับชาวบ้านยังคงเดิม เกิดประโยชน์กับในพื้นที่ ซึ่งในอนาคตจะได้มีการพัฒนารูปแบบกันต่อไปค่ะ”
“การฝึกปฏิบัติงานภาคสนามร่วม เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับนโยบาล และเป็นทิศทางในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประชาชนในภูมิภาค เป็นการฝึกนักศึกษาให้ทำงานร่วมกัน อันจะส่งผลทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไปมีคุณภาพ มีวิสัยทัศน์ในการที่จะช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะในชุมชนชนบท และสามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นสหวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม ตามแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาพร้อมทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”
นศพ.ธัญพิสิษฐ์ พนาวัลย์ (เจได) นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ประธานกลางฝึกภาคสนามร่วม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2563 กล่าวว่า “การฝึกภาคสนามร่วมในครั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงชุมชนว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการเข้ารับการบริการทางการแพทย์ทั้งคนและสัตว์ โดยมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมฝึกภาคสนามร่วมในครั้งนี้ คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย เข้าถึง มีนศ 694 คน แบ่งเป็น 12 คลัสเตอร์ แบ่งไป 4 อำเภอ สิ่งที่ได้จากการลงชุมชน คือ การดูพฤติกรรมของชาวบ้าน การดูรอบครัวเชิงลึก หรือ ความเชื่อต่างๆในชุมชนที่ทำให้เขาไม่ได้รัรบการบริการ หรือมีทางเลือกทางอื่นจากการเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด”
“เชื่อว่าสิ่งที่ได้รับจากการลงภาคสนามในครั้งนี้คือการทำงานร่วมกันเป็นทีม จากบุคคลที่ต่างคณะกัน ไม่ว่าจะเป็นคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งการจะหาประสบการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพจะมารวมตัวกันทั้ง 6 คณะ เพื่อที่จะผนึกพลังในการลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชุมชนในเรื่อง การให้ความรู้ และทำให้เราได้รับมิตรภาพดี ๆ ทั้งเพื่อนในคณะ เพื่อนต่างคณะ และจากชุมชน”
นศ.สพ.พัณณ์ธิชา จิรัญญ์โรจน์ (ขิม) นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เป็นเลขานุการ คลัสเตอร์ 8 กล่าวว่า “สิ่งที่ได้จากชาวบ้านคือทุกคนในคลัสเตอร์ ได้เรียนรู้การทำงานจากชาวบ้าน ได้เปิดใจพูดคุยเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับชาวบ้าน เพื่อที่เมื่อจบออกมาสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ในการทำงาน รวมทั้งได้ฝึกทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการวางแผน ทำให้ช่วยพัฒนาให้พวกเราเติบโตขึ้นอีกในระดับหนึ่ง ชาวบ้านจะได้ลูกหลานเพิ่ม เราจะเข้าได้ทำงานกับชุมชน ไปคุยคลายเหงากับชาวบ้านได้มากขึ้น ชาวบ้านหลาย ๆ คนต่างดีใจที่พวกเราเข้ามาทำงานในชุมชน”
นศภ. ศุภนิดา เดชอ่อนพันธุ์ นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ประธานนักศึกษาในการลงสำรวจชุมชน เขตที่ 7 ชุมชนบ้านดอนดู่ หมู่4 ต.หนองบัว อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “หน้าที่หลักในการทำงาน วางแผนการดำเนินงานจัดกิจกรรมทั้งหมด การลงชุมชนครั้งที่ 38 เราจะลงพื้นที่ 4 ครั้ง โดยงานทั้งหมดในภาพรวมมีสองส่วนคือ ส่วนแรกเก็บสำรวจข้อมูล ส่วนที่ 2 เป็นการคืนข้อมูลสู่ชุมชน โดยในวันแรกจะมีการสำรวจข้อมูล สำรวจวิถีชีวิตของคนในชุมชน วันที่สองจะนำข้อมูลที่ได้นำไปวิเคราะห์ วันที่สามก็จะทำโครงการให้กับชุมชน และในวันสุดท้ายเราก็นำข้อมูลทั้งหมดจากสามวันที่ได้มาคืนความรู้ให้กับคนในชุมชน”
“สิ่งที่ได้รับจากการทำงานในครั้งนี้ อยากบอกว่า คือการได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราได้ทำงานด้วยความรัก และมีความสุขในการทำงาน เราจะมีพลังในการทำงานทุกๆ วัน เราจะสนุกที่จะได้ทำมัน คนรอบตัวที่ทำงานกับเราจะรับรู้ถึงพลังนั้น แล้วจะเต็มใจทำงานทำงานไปกับพวกเราด้วยกัน หลังจากที่ลงชุมชนมา ทำให้ได้เรียนรู้ว่าวิถีชีวิตของคนในชุมชนมันมีเบื้องหลัง ว่าที่เขาดำเนินชีวิตมาแบบนี้ด้วยสาเหตุอะไรที่เขาทำเช่นนี้ ดังนั้น จึงเป็นการเปิดมุมมองว่าเราไม่ควรไปตัดสินคนอื่น เพราะทุกคนมีเบื้องหลังที่แตกต่างกันไป” นศภ. ศุภนิดา กล่าว
การฝึกปฏิบัติงานภาคสนามร่วม ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาถึงปีที่ 38 เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับนโยบาย และเป็นทิศทางในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประชาชนในภูมิภาค เพื่อฝึกนักศึกษาให้ทำงานร่วมกัน อันจะส่งผลให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไปมีคุณภาพ มีวิสัยทัศน์ในการที่จะช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะในชุมชนชนบท และสามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นสหวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม ร่วมในการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน ต่อไปในอนาคต พร้อมทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู / พรหมพร ยอดแก้ว / เสกสรร นาหัวนิล