พบพืชชนิดใหม่ของโลก อีก 6 ชนิด! โดยนักวิจัยคณะวิทย์ฯ มข. ร่วมกับอาจารย์ ม.แห่งชาติลาว และสถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติลาว

             ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย นักอนุกรมวิธานพืชดอกของประเทศไทย จากสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมวิจัยกับ อาจารย์ Soulivanh Lanorsavanh จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของลาว และ นาย Keooudone Souvannakhoummane จากสถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ สปป.ลาว ได้ออกภาคสนาม บริเวณภาคกลางและภาคใต้ของ สปป.ลาว ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2563 และค้นพบพืชชนิดของโลกในสกุลประดับหิน (Argostemma) วงศ์เข็ม (Rubiaceae) จำนวน 6 ชนิด และได้สร้างรูปวิธานเพื่อนำไปใช้ในการระบุพืชในสกุลนี้ของ สปป.ลาว ซึ่งมีจำนวน 14 ชนิด งานวิจัยนี้ได้พิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Nordic Journal of Botany ฉบับที่ 2020: e02714 doi: 10.1111/njb.02714
โดยรายละเอียดพืชชนิดใหม่มีดังนี้
1. Argostemma lamxayanum Lanors. & Chantar. พืชมีใบบางคล้ายกระดาษ (chartaceous) เรียงเป็นกระจุกที่ปลายยอด มีขนแข็ง ลำต้น ก้านดอก และรังไข่มีขนละเอียด ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม เกสรเพศผู้โค้ง ก้านชูเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันที่ฐานเล็กน้อย อับเรณูอยู่อิสระ มีรูเปิดที่ปลายยอด พบพืชชนิดนี้ตามหินปูนที่ชื้นในป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ ที่ภูผาเงิน วังเวียง แขวงเวียงจันทน์ ได้ตั้งชื่อคำระบุชนิด ‘lamxayanum’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์ ดร. Vichith Lamxay ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ผู้แนะนำให้อาจารย์ Soulivanh สนใจศึกษาในพรรณพฤกษชาติของลาว ตัวอย่างต้นแบบที่อ้างอิง ได้แก่ Lanorsavanh & Lamxay SL1731

2. Argostemma lobbioides Lanors., Chantar. & Souvann. พืชมีใบบางคล้ายกระดาษ เรียงเป็นกระจุกที่ปลายยอด มีขนแข็ง ก้านดอกมีขน กลีบดอกมีลักษณะโค้งเด่นชัด ก้านชูเกสรเพศผู้ไม่เชื่อมติดกัน แต่อับเรณูอยู่ชิดติดกัน อับเรณูมีรูเปิดที่ปลายยอด พบพืชชนิดนี้ตามหินปูนที่ชื้นในป่าเบญจพรรณ ที่ถ้ำนางแอ่น ท่าแขก แขวงคำม่วน ได้ตั้งชื่อคำระบุชนิด ‘lobbioides’ เพื่อแสดงว่าพืชชนิดนี้ลักษณะสัณฐานวิทยาใกล้เคียงกับ A. lobbii ตัวอย่างต้นแบบที่อ้างอิง ได้แก่ Lanorsavanh et al. SL1726

3. Argostemma longisepalum Lanors. & Chantar. พืชมีใบบางเป็นเยื่อ (membranous) รูปเคียว เรียงเป็นคู่ตรงข้าม 3-4 คู่ อยู่ใกล้กันคล้ายเป็นกระจุกที่ปลายยอด มีขน ก้านดอกมีขนหนาแน่น ก้านชูเกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน แต่ส่วนฐานแยกกัน อับเรณูอยู่อิสระ อับเรณูมีรูเปิดที่ปลายยอด พบพืชชนิดนี้ตามหินปูนที่ชื้นในป่าดงดิบ ที่ถ้ำขุนลู่ กาสี แขวงเวียงจันทน์ ตั้งชื่อคำระบุชนิด ‘longisepalum’ เพื่อแสดงว่า กลีบเลี้ยงของพืชชนิดนี้มีขนาดยาว ตัวอย่างต้นแบบที่อ้างอิง ได้แก่ Lanorsavanh & Lamxay SL1738

4. Argostemma paksongense Lanors. & Chantar. ทุกส่วนของพืชมีขน ใบบางเป็นเยื่อ เรียงเป็นคู่ตรงข้าม 2 คู่ อยู่ใกล้กันคล้ายเป็นกระจุกที่ปลายยอด มีขนหนาแน่น ก้านดอกมีขนหนาแน่น ก้านชูเกสรเพศผู้อยู่เป็นอิสระ แต่ส่วนฐานแยกกัน อับเรณูอยู่อิสระ อับเรณูแตกตามยาว พบพืชชนิดนี้ตามหินปูนที่ชื้นในป่าดงดิบ ที่พื้นที่คุ้มครองของป่าสงวนแห่งชาติดงหัวสาว ปากซอง แขวงจำปาศักดิ์ ตั้งชื่อคำระบุชนิด ‘paksongense’ เพื่อแสดงถึงสถานที่พบตัวอย่างพืช ตัวอย่างต้นแบบที่อ้างอิง ได้แก่ Lanorsavanh & Lamxay SL1055

5. Argostemma svengsuksae Lanors., Chantar. & Souvann ใบบางเป็นเยื่อ เรียงเป็นคู่ตรงข้าม 2-3 คู่ อยู่ใกล้กันคล้ายเป็นกระจุกที่ปลายยอด ผิวใบเกลี้ยง ก้านดอกเกลี้ยง ก้านชูเกสรเพศผู้อยู่เป็นอิสระ อับเรณูอิสระโค้งมาจรดกัน อับเรณูแตกตามยาว พบพืชชนิดนี้ตามหินที่ชื้นตามลำธารในป่าเบญจพรรณ ที่ปากซัน แขวงบอลิคำไซ ตั้งชื่อคำระบุชนิด ‘svengsuksae’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์ ดร. Bouakhaykhone Svengsuksa อดีตอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ผู้แนะนำให้อาจารย์ Soulivanh สนใจศึกษาพืชดอกในพรรณพฤกษชาติของลาว ตัวอย่างต้นแบบที่อ้างอิง ได้แก่ Lanorsavanh et al. SL1733

6. Argostemma vientianense Lanors. & Chantar. ใบบางเป็นเยื่อ เรียงเป็นคู่ตรงข้าม 2-3 คู่ อยู่ใกล้กันคล้ายเป็นกระจุกที่ปลายยอด ผิวใบด้านบนมีขน แต่ผิวใบด้านล่างเกลี้ยง ก้านดอกมีขนหนาแน่น ก้านชูเกสรเพศผู้อยู่เป็นอิสระ อับเรณูอยู่อิสระและโค้งมาจรดกัน อับเรณูแตกตามยาว พบพืชชนิดนี้ตามหินปูนที่ชื้นในป่าเบญจพรรณ ที่ตาดช้าง เขตคุ้มครองของป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาย แขวงเวียงจันทน์ ตั้งชื่อคำระบุชนิด ‘vientianense’ เพื่อแสดงถึงสถานที่พบตัวอย่างพืช ตัวอย่างต้นแบบที่อ้างอิงได้แก่ Lanorsavanh & Lamxay SL1745

พืชที่พบใหม่ดังกล่าว เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก สูง 2-20 เซนติเมตร อายุหลายปี ดอกมีสมมาตรแบบรัศมี กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว เรียงตัวคล้ายรูปดาว ขึ้นอยู่ตามหินปูนหรือหิน ที่มีความชื้นสูงในป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบชื้น สำหรับตัวอย่างต้นแบบแรก (holotype) นั้นเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชแห่งชาติลาว (HNL) ส่วนตัวอย่างคู่ตัวอย่างต้นแบบ (isotype) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืช คณะวิทยาศาสตร์ป่าไม้ (FOF)  และพิพิธภัณฑ์พืช ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และพิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU)

ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย

 

Scroll to Top