วันนี้ (11 กันยายน 2563 ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ พร้อม 8 ภาคีเครือข่าย จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อดำเนินโครงการ “Sustainable developmeNt Smart Agriculture Capacity : [SuNSpaCe]” ในความดูแลของ สหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี กล่าวรายงานโครงการ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ และได้รับเกียรติจากนายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นแสดงความยินดี และมีผู้บริหาร 8 องค์กร กลุ่มเกษตรกร และ สื่อมวลชน ร่วมงานกว่า 100 คน ณ หมวดพืชผัก อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการ SUNSpaCe ได้รับโอกาสจาก สหภาพยุโรป หรือ EU ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมกับหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก เพื่อ นำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรเพื่อให้สามารถจัดการและดำเนินการทำการเกษตรได้แบบทันท่วงที เปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรแบบเก่า คือพออยู่พอกิน เป็นเกษตรขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ซึ่งนอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ แล้วยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เป็นไปตามนโยบายด้านประชาคม หรือ ผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัย (People)ปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัย (Research transformation) ทำวิจัยตามความต้องการของผู้ใช้งานหรือตามปัญหาของประเทศ ปรับเปลี่ยนเป้าหมายการทำวิจัยให้ไกลกว่าการตีพิมพ์ สู่การนำไปใช้จริง เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนวัตกรรม การผลักดันงานวิจัยเพื่อนวัตกรรมเชิงพานิชย์
รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการ “Sustainable developmeNt Smart Agriculture Capacity : [SuNSpaCe]” ได้รับทุนงบประมาณสนับสนุนจาก Erasmus+ (Erasmus – EuRopean Community Action Scheme for the Mobility of University Students) ซึ่งเป็นโครงการของสหภาพยุโรปเพื่อสนับสนุนการศึกษา เพื่อฝึกอบรมเยาวชนและในยุโรป โดยมีงบประมาณ 14,700 ล้านยูโร จะเปิดโอกาสให้ชาวยุโรปกว่า 4 ล้านคนได้ศึกษาฝึกอบรมและได้รับประสบการณ์ในต่างประเทศ ปัจจุบัน Erasmus+ ไม่เพียงเปิดโอกาสให้นักเรียนเท่านั้น ยังเปิดโอกาสสำหรับบุคคลและองค์กรที่หลากหลาย รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้รับโอกาสนั้นด้วย โดยการทุ่มเทเขียนโครงการกว่า 2 ปี ของคณะบริหาร ฯ จนกระทั่งสำเร็จในที่สุดในวันนี้
“โครงการ SUNSpaCe คือ การจัดทำกรอบการทำงานที่เปิดใช้งานเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าใจการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ที่พร้อมปรับเปลี่ยนได้อยู่เสมอ และมีเครื่องมือที่พร้อมใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในการฝึกอบรม ทั้งนี้ในความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งหวังและสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยร่วมกัน นำเทคโนโลยี IoT ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพของผลผลิต พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการบูรณาการด้านการศึกษาและพัฒนาเป็นจุดถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตร (smart farming) ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกประสบการณ์สำหรับนักศึกษา บุคลากร ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจทั่วไป อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในเชิงวิชาการและปฏิบัติการ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาทางด้านการเกษตรทันสมัย (smart faring) ให้แก่ผู้สนใจ” คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ ได้มุ่งแนวคิดของการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลบนห่วงโซ่คุณค่าโดยรวม ซึ่งเกษตรกรสามารถจัดการและดำเนินการทำการเกษตรได้แบบทันท่วงที ประกอบกับมีการนำเอาข้อมูลที่ประกอบข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ในการคิดวิเคราะห์เพื่อใช้ในวางแผน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรของตนเองได้อย่างเหมาะสม บนพื้นที่ทำการเกษตรขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ซึ่งนอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และองค์ความรู้ทางด้านการตลาดมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญให้เข้าร่วมดำเนินโครงการ Sustainable developmeNt Smart Agriculture Capacity [SuNSpaCe] โดยมี ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม ร่วมในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว และมีมหาวิทยาลัยที่เป็นหลัก คือ University Lyon2 ULL , University of the West of Scotland – UWS, Corvinus University of Budapest – CUB ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้จากฝั่งยุโรปให้กับมหาวิทยาลัยที่เป็นภาคีเครือข่ายในฝั่งเอเชีย โดยมี Chiang Mai University – CMU, KhonKaen University – KKU, Kantipur Engineering College – KEC, Acme Engineering College – AEC, Royal University of Bhutan – RUB เป็นประเทศในการทดลองและวิจัยในการทำ Pilot Site และ Smart Lap
การดำเนินโครงการที่ผ่านมานั้นได้มีการประชุมและเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เดือน มกราคม 2562 โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2564 จากความเชี่ยวชาญของในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น ความร่วมมือด้านการเกษตรทันสมัยจะถูกถ่ายทอดมายังเกษตรกรตามศักยภาพและพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อขยายผลการพัฒนาไปยังเกษตรกรอื่นๆ อีกมากกว่า 300 ราย อาทิ การใช้อุปกรณ์ตรวจวัดความชื่นของดินในไร่นา การตรวจวัดสารเคมีในดิน การใช้เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิของอากาศเพื่อการให้น้ำอย่างเหมาะสม เป็นต้น
KKU joins EU to support Smart Farm for farmers and for Thai economy
https://www.kku.ac.th/7814
จิราพร ประทุมชัย : ข่าว
วรัญญู ดอนเหนือ : ภาพ