ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ. ดร เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดโครงการ รักษ์ป่ารักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ ให้กับเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 – กันยายน 2563 เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญ รู้คุณค่า ร่วมอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมกิจกรรมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้มีความหลากหลาย พัฒนาความสมบูรณ์ด้านป่าไม้ เป็นแหล่งหาอาหารทางธรรมชาติของคนในชุมชน และสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เข้าร่วม โดยได้ดำเนินการจัดอบรมผู้นำและชุมชนและชาวบ้านในการสำรวจทรัพยากรป่าทำให้เห็นชนิดและประโยชน์ จัดตั้งกรรมการป่า ปลูกป่า และอบรมทำแนวกันไฟ และเพื่อสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในเชิงอนุรักษ์
ต่อมาในวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการรักษ์ป่ารักษ์น้ำ ที่บ้านหนองทุ่ม ตำบลบ้านกง จังหวัดขอนแก่น โดยดำเนินการในพื้นที่ป่าสาธารณะประโยชน์ จำนวน 32 ไร่ ของหมู่บ้าน เป็นป่าที่คนในชุมชนทั้งตำบลบ้านกง ได้ลงความเห็นร่วมกันที่อยากจะอนุรักษ์อนุรักษ์ร่วมกัน โดยการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมี นายนพพร นนทภา นักวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเภสัชพฤกษ์ศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้มีความสนใจในด้านการฟื้นฟูป่าพื้นถิ่น ได้มาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ตามหลักวิชาการในด้านการจัดการป่าไม้ ทำให้เกิดแผนการจัดการป่าไม้ตลอดทั้งปี โดยชุมชนจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงและกฎระเบียบของป่า ในเดือนสิงหาคม-เดือนตุลาคมจะสำรวจพรรณไม้ (พรรณไม้อดีต-ปัจจุบัน) ระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนมีนาคม จะเริ่มการเพาะกล้าไม้ ในเดือนเมษายนจะทำแนวกันไฟ และแผนข้อสุดท้าย จะสร้างแหล่งอาหาร โดยได้ให้ชุมชนร่วมปฏิบัติการกระจายเชื้อเห็ดในพื้นที่ป่า ทั้งเห็ดระโงก เห็ดเผาะ เห็ดไค และเห็ดโคน
วิทยากรได้ให้ความรู้ วิธีการกระจายเชื้อเห็ดในพื้นที่ป่า โดยเริ่มจากการเตรียมเห็ดแก่ 1 ดอกผสมน้ำ 5 ลิตร ปริมาณน้ำห้ามน้อยกว่า 5 ลิตร การใส่เชื้อเห็ดให้ดูทรงพุ่มของต้นไม้ ขุดเข้าไปหาต้น 30 เซนติเมตร เทน้ำผสมเชื้อเห็ดลงไปและกลบดินให้เรียบร้อย ทั้งนี้ ก่อนเกิดเห็ดห้ามรบกวนระบบราก ทั้งนี้ต้องเข้าใจปัจจัยที่ทำให้เกิดเห็ด
การเกิดของกลุ่มเห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดไค และเห็ดน้ำหมาก มักจะเกิดอยู่กับต้นยางนา ต้นตะเคียน ต้นเต็ง(จิก) ต้นรัง(ฮัง) ต้นเหียง(ชาด) ต้นพลวง(กุง) ต้นกราด(สะแบง) ต้นพยอม และต้นกระบาก เห็ดในกลุ่มเห็ดตับเต่า เห็ดชนิดนี้ต้องมีพี่เลี้ยง เป็นต้นไม้ทุกชนิดที่มีราก เช่น ต้นมะม่วง ประดู่ ทองหลาง ตะขบฝรั่ง หางนกยูงไทย แคป่า แคนา เป็นต้น ส่วนกลุ่มเห็ดโคน (เห็ดปลวก) ปัจจัยคือ มีป่า มีปลวก เนื่องจากท้องปลวกมีเชื้อเห็ดโคน
นางพรวดี อุปโคตร ชาวบ้านบ้านหนองทุ่ม กล่าวในนามชุมชนว่า “ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มาให้ความรู้ในวันนี้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก ถ้าการเพาะเห็ดสำเร็จแล้วมีเห็ดเกิดขึ้นมาก็จะเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และถ้าหากมีเห็ดออกเยอะชุมชนก็จะมีรายได้จากการเก็บเห็ดไปขาย หรือเก็บผักหวานไปขายอีกด้วย”
ในปีงบประมาณที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในด้านของการปรับปรุงคุณภาพดิน การจัดการด้านทรัพยากรน้ำโดยการทำระบบกระจายน้ำ รวมถึงการฟื้นฟูและสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนในด้านป่าไม้ในพื้นที่ของหมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 14 ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และในปีงบประมาณ 2561 สำนักงานฯตั้งเป้าหมายในการพัฒนางานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการขยายไปในชุมชนใกล้เคียงเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงดำเนินงานประสานงานเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการสู่ชุมชนโดยน้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม อันมีสาเหตุสำคัญมาจากการทำลายป่า พระองค์จึงทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาป่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม เพื่อป้องกันอุทกภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ถนอมน้ำไว้ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธาร
โครงการ รักษ์ป่ารักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ ที่จัดขึ้นสำหรับเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นในช่วงปีแรกนี้ จะเป็นกิจกรรมให้ความรู้ ทำความรู้จัก และสร้างความคุ้นเคย เมื่อชุมชนมีความมั่นใจว่ามีผู้สนับสนุนในการทำงาน ชุมชนจะกล้าลงมือทำ เมื่อโครงการประสบกับความสำเร็จก็จะเกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรของชุมชน อันเป็นหลักการของการทำงานกับชุมชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
KKU visits community, public relating the ideas of forest management and fungi spreading, aiming at resource cherishing among farmers
https://www.kku.ac.th/7746
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น