มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาผู้อำนวยการโรงเรียนในโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมศรีพฤทธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
ในพิธีเปิดการประชุม ได้รับเกียรติจาก นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวเปิดการประชุม นางวัชรกาญจน์ คงพูล ศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะศักดิ์ ปักโคทานัง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวรายงานที่มาของการประชุมสัมมนา นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันฯ ยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดทางออนไลน์ โดยได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการดำเนินโครงการ
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการโรงเรียนในโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการคิด และผู้อำนวยการโรงเรียนภายใต้การดำเนินงานของศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา โดยทุกโรงเรียนที่กล่าวมาซึ่งมีจำนวนมากกว่า 200 โรงเรียน ใช้นวัตกรรมเดียวกันคือ การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด
การประชุมสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การเปิดชั้นเรียน (Open Class) แผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หน่วยการเรียนรู้ภูมิศาสตร์โลก ในกิจกรรม รู้คิดกับโควิด-19 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สอนโดย คุณครูอัจฉริยา คุณมาศ และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านโนนแสนคำหนองศาลาศรีสะอาด จังหวัดศรีสะเกษ กิจกรรมสะท้อนผลการเปิดชั้นเรียน การเสวนาในหัวข้อ “บทบาทผู้บริหารสถานศึกษาในการดำเนินงานตามแนวทางนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด” โดย ตัวแทนผู้อำนวยการโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด และการประชุมกลุ่มย่อยของผู้อำนวยการโรงเรียน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านนวัตกรรมการศึกษาเพื่อการจัดการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21
การประชุมสัมมนาผู้อำนวยการโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดนี้ มีการดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้นวัตกรรม การพัฒนาองค์ความรู้การใช้นวัตกรรมผ่านการปฏิบัติจริง รวมถึงการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานและรับฟังข้อเสนอแนะจากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในเขตพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้กับผู้บริหารโรงเรียนในโครงการฯ ที่เข้ามาเป็นโรงเรียนเครือข่ายรุ่นใหม่ เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียนต่อไป
กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม ทั้งสิ้นจำนวน 290 คน ทั้งเข้าร่วมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ และเข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์
KKU and EEF enhance educational innovations among directors of network schools all over the country
https://www.kku.ac.th/7680
ข่าว พีรณัฐ เอี่ยมทอง ,ดร.นฤมล อินทร์ประสิทธิ์
ภาพ ไกรรัฐ มันหาท้าว