มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า นำโดย ศาสตราจารย์ นพ. บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานมูลนิธิตะวันฉายฯ จัดโครงการ “การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาะปากแหว่งเพดานโหว่ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 8” ขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2563 โดยมี นายสิทธิกุล ภูคำวงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน และ นายบุญเชิด โพธิ์หมื่นทิพย์ รองผู้อำนวยสมาคมพัฒนาประชากร และ ตัวแทนประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉาย กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีเปิด ณ โรงแรมอินภาวา อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
โครงการ “การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 8” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น (อบจ.ขอนแก่น) และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๗ ขอนแก่น และมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ครอบครัว เพื่อนของผู้ป่วย และผู้ป่วย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไป จำนวนกว่า 50 คน
นายบุญเชิด โพธิ์หมื่นทิพย์ กล่าวว่า “ประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 8” โดยความร่วมมือของมูลนิธิตะวันฉายฯ ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานบ้านไผ่ (ศูนย์มีชัย) และภาควิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 8 การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อเสริมศักยภาพการดูแลผู้ป่วยให้สมบูรณ์แบบครอบคลุม 5 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านการดำรงชีวิต และด้านการเสริมสร้างพลังอำนาจ โดยที่ผ่านมาได้จัดโครงการทั้งในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และนอกพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการเข้าร่วมประชุมแต่ละครั้งจะแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม สำหรับกลุ่มเป้าหมายในปีนี้ คือน้อง ๆ ตะวันฉาย เพื่อน และครอบครัว ที่อยู่ในกลุ่มประถมศึกษา ช่วงอายุ 7-12 ปี จำนวน 15 คน กลุ่มมัธยมศึกษา ช่วงอายุ 13-17 ปี จำนวน 34 คน และกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมผู้ปกครอง ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 คน โดยแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการ การพัฒนาและเสริมสร้างทักษะที่แตกต่างกัน ภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการดำรงชีวิตของคนในประเทศและทั่วโลก สร้างผลกระทบกับผู้คน รวมทั้งครอบครัวตะวันฉาย การปรับตัวและดำรงชีวิตแบบใหม่ ให้อยู่ได้อย่างพอเพียง และต่อยอดความรู้ภูมิปัญหาท้องถิ่นเดิมให้เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพให้แก่ตนเองและชุมชน โดยศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานบ้านไผ่ (ศูนย์มีชัย) และภาควิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายที่ร่วมดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในด้านอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง การดูแลครอบครัวตะวันฉายอย่างครอบคลุมทั้งด้าน 5 ด้าน พบว่าศักยภาพผู้ป่วยเทียบเท่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน และหากได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ การตระหนักรู้ และต่อยอดด้านอาชีพ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีพลัง นำพาประเทศขับเคลื่อนไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง”
นายสิทธิกุล ภูคำวงศ์ กล่าวว่า “ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นภาวะที่พบมากที่สุด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การรักษาต้องอาศัยทีมสหสาขาเฉพาะทาง ทำงานร่วมกันและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นด้วย จึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ขอชื่นชมการทำงานของมูลนิธิตะวันฉายฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้การสนับสนุนผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ และครอบครัว มาต่อเนื่องถึง 11 ปี ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการบริการ การดูแล รักษา ผ่าตัด และฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยในภาคอีสาน และยังผลักดันสถานพยาบาลเฉพาะโรคปากแหว่งเพดานโหว่ฯ คณะแพทยศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในนามสถานพยาบาลเฉพาะทางชั้นเลิศของจังหวัดขอนแก่น การจัดโครงการครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจแบบใหม่และพอเพียง ตามปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาทักษะ การคิดวิเคราะห์ การตระหนักรู้ ของน้อง ๆ ตะวันฉาย เพื่อให้ปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่กับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข เป็นการประชุมที่บูรณาการอย่างแท้จริง”
ในงาน มีการให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกผู้ป่วย อายุ 7-12 ปี ครอบครัวและเพื่อน จังหวัดขอนแก่น กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วย กลุ่ม อายุ 13-17 ปี จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับอายุให้ได้รับความรู้ มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และกลุ่มที่ 3 ผู้ป่วย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ได้เรียนรู้ในด้านการอาชีพ โดยได้เรียนรู้ในการเพาะพืชตระกูลงอก ทัศนศึกษา “Mini farm เกษตรพอเพียง” โดยวิทยากร นางสาวรัตนกนก บัวพงษ์ชน (ครูแมว) ณ สวนธรรมมือ กิจกรรมประมวลความรู้ที่ได้จากการทัศนศึกษา โดยวิทยากร ผศ.ไกรเลิศ ทวีกุล ทัศนศึกษาและร่วมกิจกรรมปันกันปลูก ณ บ้านสวนเบญจมงคล และได้ไปทัศนศึกษา “Mini farm เกษตรพอเพียง” โดยวิทยากร นายประสิทธิ์ พันธ์โบว์ ณ สวนผักยายปาว และทัศนศึกษางานกลุ่มปลูกผักปลอดสาร บ้านหนองหญ้าข้าวนก นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ครอบครัวตะวันฉาย มีอาชีพที่ดี และสร้างรายได้สู่ครอบครัว สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
Tawanchai Foundation joins Khon Kaen PAO to promote new and sufficient economy for Tawanchai families so that they will have pleasant smiles on their faces
https://www.kku.ac.th/7635
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า