มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมี รศ.ดร.รังสรรค์ เนียมสนิท เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ มข.แก้จน เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าทางการเกษตร สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรร่วมนำผลผลิตคุณภาพดีร่วมจำหน่าย เป็นการหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้าทางเกษตรให้กับเกษตรกร ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในการสร้างผลผลิต ต่อยอดสู่ช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ แปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต และเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการะบาดของโควิด-19 โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2563 ณ บริเวณศาลาพระราชทานปริญญาบัตรหลังเดิม
รศ.ดร.รังสรรค์ เนียมสนิท กล่าวว่า “โครงการตลาด มข.แก้จน เป็นโครงการและกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เข้าไปส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้เกิดการรวมกลุ่มในการผลิตสินค้าทางการเกษตร จากจุดเดิมที่มีการจำหน่วยบริเวณโรงพยาบาลศรีนครินทร์เนื่องจากช่วงนี้มีการระบาดของโควิด-19 จึงได้งดการจำหน่วยผลิตผลทางการเกษตรที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จึงทำให้เกษตรกรเกิดการขาดรายได้ จึงมีการหารือและหาแนวทางในการเปิดตลาดช่วยเกษตรกร จึงได้รับความกรุณาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาทดลองเปิดตลาดในบริเวณศาลาพระราชทานปริญญาบัตรหลังเดิม ที่สำคัญที่สุดของการจัดโครงการคือการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร ซึ่งมีหลายโครงการที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา อาทิ โครงการไก่ประดู่หางดำ โครงการเกษตรกรโคนม รวมถึงโครงการ และกลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ ทั้งนี้ขอเชิญชวนชาวจังหวัดขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยสนับสนุนโครงการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการที่อุทิศเพื่อสังคมสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือกับโครงการปิดทองหลังพระ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ได้มีเกษตรกรนำสินค้าทางการเกษตรร่วมจำหน่ายในครั้งนี้”
รศ.ดร.รังสรรค์ เนียมสนิท กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป็นที่ทราบดีว่าเกษตรกรเมื่อสร้างผลผลิตแล้ว ท้ายที่สุดก็ติดปัญหาที่การหาตลาดในการจำหน่ายสินค้า จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการผลิตและการรวมกลุ่มการทำเกษตรด้วยระบบปลอดภัย ผสานการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งนี้ยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ “ยัง สมาร์ท” เข้ามาต่อยอดให้เข้าถึงตลาดออนไลน์ เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีการขยายตลาดและช่องทางจำหน่ายมากขึ้น ไปจนถึงระดับการสร้างตลาดให้มั่นคง พร้อมกับปรับแนวคิดของเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเอง และถือโอกาสจ้างงานบัณฑิต รวมถึงผู้ที่กลับจากกรุงเทพมหานครและผู้ว่างงาน การเปลี่ยนแปลงกระบวนการเกษตรต้องมีเกษตรกรรุ่นใหม่เติมเต็มเข้าไปในชุมชน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นลูกหลานที่ผ่านกระบวนทางด้านอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าเกษตรกรในปัจจุบันส่วนใหญ่อายุมาก เจ็บป่วย มีภาระดูแลลูกหลาน อีกทั้งเป็นการบูรณาการคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่กับเกษตรแบบเดิม นำไปสู่โอกาสการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ แปรรูปและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สำหรับโครงการ มข. แก้จน เป็นส่วนสำคัญในการสร้างช่องทางในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรให้กับเกษตรกรในชุมชน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเกษตรกรและคนในชุมชน ต่อยอดสู่การพัฒนาผลผลิตที่หลากหลายยิ่งขึ้น”
นางบุญมาก หลักฐาน เกษตรกรชาวอำเภอเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “ได้เข้าร่วมโครงการตลาดนัดแก้จนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นโครงการที่ดีต่อชุมชน ทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยที่จากเดิมมีผลผลิตจำนวนมากแต่ไม่มีช่องทางในการจำหน่วยสินค้า แต่เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการจัดหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้า เกิดการสร้างรายได้ และส่งผลดีกับครอบครัว เดิมมีการจำหน่วยเฉพาะในหมู่บ้านไม่ได้มีการออกจำหน่ายนอกพื้นที่ กระทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการนำชาวบ้านร่วมสำรวจตลาดและหาแนวทางในการสร้างผลผลิต นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวแล้ว ยังมีการนำผลผลิตของคนในชุมชนร่วมออกวางจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและเกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง แม้ว่าจะได้รับผลผกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งนี้ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และมีกำลังใจในการสร้างผลผลิตต่อไป”
นางคำอร สมปาน เกษตรกรชาวอำเภอเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมโครงเกิดจากการปลูกข้าวโพดที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการตลาด มข. แก้จน ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ และนำสินค้าร่วมจำหน่ายในงานเกษตรภาคอีสานที่จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสร้างรายได้ 60,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้จำหน่ายสินค้าเฉพาะในชุมชน จัดการและหาตลาดด้วยตนเอง เมื่อร่วมในโครงการตลอดระยะเวลา 5 ปี ทางโครงการได้มีการจัดหาตลาดและช่องทางการจำหน่ายที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์สร้างรายได้สูงสุด 9,000 บาทต่อวัน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และไม่เกิดภาระหนี้สิน แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะได้รับผลกระทบบ้างทำให้รายได้ลดลง แต่ด้วยผลลิตที่ยังคงมีมากจึงได้มีการนำผลิตแจกจ่ายไปยังผู้ที่ขาดแคลนเพื่อเป็นการช่วยเหลือในภาวะวิกฤตินี้ นอกจากนี้ยังนี้ยังมีการต่อยอดในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อใช้ในการเพาะปลูก สร้างอาชีพและรายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการ มข. แก้จน ในการช่วยเหลือ และให้คำแนะนำ รวมถึงสร้างช่องทางและหาตลาดในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร”
ข่าว : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
ข้อมูล/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู