ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ. ดร. กีรติพร จูตะวิริยะ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง และมี รศ. ดร. มณีมัย ทองอยู่ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ อยู่ภายใต้การบริหารของ รศ. ดร. กุลธิดา ท้วมสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
การที่วารสารแต่ละเล่มจะได้รับการรับรองคุณภาพ เข้าสู่ฐานข้อมูลวารสารระดับชาติ และได้รับการ Index สู่ระดับนานาชาติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านเกณฑ์คัดเลือกอย่างเข้มข้น การที่วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง Journal of Mekong Societies (JMS) ที่ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้รับการ Index เข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus จึงเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ. ดร. กีรติพร จูตะวิริยะ กล่าวว่า “วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง Journal of Mekong Societies (JMS) ได้รับทุนสนับสนุนวารสารวิชาการที่มีคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับการรับรองจาก สกอ. ว่าเป็นวารสารวิชาการในสาขามนุษยศาสตร์ที่มีคุณภาพระดับดีมาก ตั้งแต่พ.ศ. 2554 และในปีถัดมา ได้รับการรับรองคุณภาพและจัดอันดับวารสารวิชาการในประเทศไทยโดย The Thai Journal Citation Index Center (TCI) วารสารได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที 1 และอยู่ในกลุ่มที่ 1 ต่อเนื่องในการประเมินทุกครั้ง จนถึงครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 4 รับรองระหว่าง พ.ศ. 2563-2567) วารสารก็อยู่ในกลุ่มที่ 1 จนได้รับการ index ในฐานข้อมูลวารสารระดับชาติ คือ TCI ซึ่งในระดับนานาชาติ ได้รับการ index ในฐานข้อมูล ACI (ASEAN Citation Index) Google Scholar และล่าสุดได้รับการอนุมัติให้เข้ารับการ index ในฐานข้อมูล Scopus”
“ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง ได้ดำเนินการมากว่า 20 ปี เป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งแรกของมหาวิทยาลัยขอนแก่น งานที่ทำต่อเนื่องมาโดยตลอดก็คือการผลิตนักวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และทำวารสารวิชาการชื่อ “วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง” ซึ่งเป็นวารสารแรกทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ อยู่ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจากฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยพัฒนางานวิจัยทางด้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มีทีมวิจัยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มีทางด้านสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ ทางด้านภาษา และทำให้มีผลงานที่โดดเด่น ได้เข้าสู่ฐาน Scopus เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทางด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง” ผศ. ดร. กีรติพร จูตะวิริยะ กล่าว
รศ. ดร. มณีมัย ทองอยู่ กล่าวว่า “วารสารสังคมลุ่มน้ำโขงเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติ มีเป้าหมายเพื่อสร้างเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่และผลงานวิจัยที่สำคัญในด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เกี่ยวกับประเทศลุ่มน้ำโขง ขอบเขตของเนื้อหาคือ ต้องเป็นบทความในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่เน้นภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งครอบคลุม 6 ประเทศคือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และจีน วารสารตีพิมพ์บทความวิจัย บทความปริทรรศน์ และบทวิจารณ์หนังสือ ตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษเท่านั้น (เดิมตีพิมพ์ภาษาไทยด้วย แต่เปลี่ยนมาเป็นภาษาอังกฤษล้วนในฉบับแรกของปี 2562) ทุกบทความต้องผ่านการประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนอย่างน้อย 2 ท่าน โดยเป็นการประเมินแบบ double-blind peer review โดยผู้เขียนไม่รู้ว่าผู้ประเมินเป็นใคร และผู้ประเมินก็ไม่รู้ว่าผู้เขียนเป็นใคร”
“วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง จัดพิมพ์เผยแพร่ทั้งในลักษณะการพิมพ์เป็นเล่ม และการพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์แบบ open-access (ผู้อ่านสามารถอ่านและ download บทความฉบับเต็มจาก website ของวารสารได้ทุกบทความโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการมองเห็นบทความ (visibility) อันเป็นการเพิ่มโอกาสในการถูกอ้างอิง (citation) ด้วยออกปีละ 3 ฉบับ คือ มกราคม-เมษายน พฤษภาคม-สิงหาคม กันยายน-ธันวาคม ปัจจุบัน วารสารยังไม่คิดค่าตีพิมพ์ แต่ในกรณีที่บรรณาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่าบทความนั้น ๆ ต้องปรับปรุงภาษาอังกฤษมีให้มาตรฐานภาษาทางวิชาการ (academic English) ผู้เขียนจะต้องดำเนินการปรับปรุงภาษาก่อนการตีพิมพ์โดยผู้เขียนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตาม ในกรณีเป็นบทความที่มีคุณภาพดีจากประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงหรือเงื่อนไขที่เหมาะสมอื่น ๆ บรรณาธิการอาจพิจารณาสนับสนุนทุนในการปรับแก้ภาษาแก่ผู้เขียนโดยพิจารณาเป็นรายกรณี” รศ. ดร. มณีมัย ทองอยู่ กล่าว
จำนวนวารสารวิชาการไทยที่เข้าสู่ฐาน Scopus (พ.ศ. 2560-2563) มีทั้งสิ้น 40 วารสาร จาก 23 สถาบัน อันดับที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมากที่สุด จำนวน 9 วารสาร อันดับที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล มีจำนวน 5 วารสาร อันดับที่ 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจำนวน 3 วารสาร อันดับที่ 4 มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 2 วารสาร และมีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศอีก 18 แห่ง มีแห่งละ 1 วารสาร
มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีวารสารวิชาการของที่ได้เข้าสู่ฐาน Scopus จำนวน 3 วารสาร ได้แก่
1) Asia-Pacific Journal of Science and Technology ดำเนินการรับผิดชอบโดยฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2) Engineering and Applied Science Research ดำเนินการรับผิดชอบโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์
3) Journal of Mekong Societies โดยศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
การเข้าสู่ฐาน Scopus นับเป็นก้าวที่สำคัญของวารสาร แสดงถึงการได้รับการยอมรับในคุณภาพของวารสาร และการได้เข้ารับการ index ในฐานข้อมูลบรรณานุกรมระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของบทความที่ส่งเข้ามาขอรับการตีพิมพ์ และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของประเทศไทย ความสำคัญของ Scopus นั้น จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันนักศึกษาระดับปริญญาเอกในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ ในประเทศไทยจะต้องมีบทความตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐาน Scopus จึงจะสามารถจบการศึกษาได้ อีกทั้งจำนวนบทความและการถูกอ้างอิงของบทความในฐาน Scopus จะถูกทำมาใช้เป็นเกณฑ์สำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก เช่น QS World University Ranking และ Times Higher Education Ranking (THE) ซึ่งเป็นการจัดอันดับที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยและนานาชาติให้ความสำคัญ เป็นที่น่ายินดีที่วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง Journal of Mekong Societies (JMS) ได้รับการตอบรับให้เข้ารับการ index ในฐาน Scopus เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2563
รศ. ดร. กุลธิดา ท้วมสุข กล่าวว่า “นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวารสารวิชาการที่อยู่ในฐาน Scopus เพิ่มอีก 1 ชื่อ ทั้งยังเป็นวารสารในสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งโอกาสในการจะมีชื่อปรากฏในฐานข้อมูลอ้างอิงระดับสากลเป็นไปได้ยากมาก จึงเป็นการสะท้อนว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านการวิจัยในสาขาวิชานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เป็นประเด็นของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง ได้เข้าไปอยู่ในฐาน Scopus จะทำให้งานวิจัยในสาขาวิชานี้เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงในระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น ต้องขอขอบคุณ รศ. ดร. มณีมัย ทองอยู่ บรรณาธิการวารสาร และ ผศ.ดร. กีรติพร จูตะวิริยะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง รวมทั้งทีมงาน ที่ได้พัฒนาวารสารสังคมลุ่มน้ำโขงจนสามารถเข้าสู่ฐาน Scopus ได้สำเร็จ”
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู