“บุญสมมาบูชานาค”ในงานสีฐานเฟสติวัล ปลุกกระแสความเชื่อตามฮีคคองอีสานบนรูปแบบใหม่ของวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างครบรส “ศรัทธา มหาสนุก ปลุกวิถีวัฒนธรรม”
พันธกิจด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคำว่า”วัฒนธรรมสร้างสรรค์”ได้ถูกใช้บ่อยครั้งในการจัดกิจกรรมต่างๆต่อเนื่องกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งานสีฐานเฟสติวัล”ถือได้ว่าเป็นโมเดลความสำเร็จของความพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ได้ถูกสืบทอดไปพร้อมๆกับการปรับแปรให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อดึงความสนใจของคนทุกเจนเนอเรชั่นให้หันกลับเข้ามาซึมซับคุณค่ามรดกที่มีความเป็นเอกลักษณ์แบบไม่รู้สึกถึงภาพความล้าสมัยของวัฒนธรรมประเพณีได้อย่างลงตัวดังคำที่ว่า “ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่”ที่นักวิชาการท่านหนึ่งได้ให้แนวทางไว้ว่ามันคือทางรอดที่จะต่อลมหายใจของวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 21
งานสีฐานเฟสติวัล ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 คือต้นแบบของการนำแนวคิดวัฒนธรรมสร้างสรรค์มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมของงานประเพณีลอยกระทงบึงสีฐานที่มีคู่กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาช้านาน สู่กิจกรรมที่ใช้ชื่อใหม่ที่ฟังติดหูนักท่องเที่ยวมากขึ้นสามารถดึงผู้คนให้หลั่งไหลเข้ามาสัมผัสกลิ่นไอวัฒนธรรมแบบผสมผสานนับเป็นเรือนแสนในแต่ละปี ที่โดดเด่นด้วยธีมงาน 3 วันที่ครบรสคือ “ศรัทธา มหาสนุก ปลุกวิถีวัฒนธรรม”
ปี 2562 นี้เป็นปีของการเปลี่ยนผ่านทางนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวกรณ์แบบ Transformationดังนั้นงานสีฐานเฟสติวัลจึงก้าวขึ้นมาสู่ชื่อใหม่ที่ใช้นัยทางความเชื่อมาสร้างความเป็นรูปธรรมของเอกลักษณ์งาน ให้กลมกลืนสอดคล้องไปกับวิถีความศรัทธาพื้นถิ่นอีสาน คือ”สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค” Sithan KKU Festival 2019
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ด้วยความคิดที่สอดคล้องกันของผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นอันมาจาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของผู้คนให้หันมาสนใจงานวัฒนธรรมประเพณีที่สอดคล้องกับพันธกิจมหาวิทยาลัย เกิดภาพจดจำใหม่ๆที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถตอบโจทย์ ฮีต-คอง ของภาคอีสาน จึงได้รังสรรค์งานประเพณีลอยกระทงที่เคยจัดกันมาสู่การเป็น”สีฐานเฟสติวัล”ซึ่งได้กลั่นความคิดคนทำงานที่ดึงความร่วมมือกันมาสู่รูปแบบงานใหม่ๆแต่ยังคงรักษาแนวทางอันดีงามตามประเพณีไว้ สำหรับประเพณีลอยกระทงหัวใจสำคัญมีความหมายถึงการขอขมาน้ำซึ่งมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คน เราจึงใช้คำว่า “บุญสมมาบูชาน้ำ”ในระยะแรกเราจัดกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนได้เข้าใจเข้าถึงความหมายอันดีงามนี้ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงามสื่อความหมายความศรัทธา ไม่ใช่เพียงแค่การนำอะไรลงไปลอยในน้ำแล้วจบไปเท่านั้น
ความสำเร็จของ งานสีฐานเฟสติวัลบุญสมมาบูชาน้ำ ได้ส่งทอดผ่านมาสู่ปีที่ 4 แล้ว ถึงเวลาที่จะยกระดับความหมายสำคัญของงานให้มีความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มีภาพที่เด่นชัดขึ้นแต่คงความหมายที่สอดคล้อง จึงมาสู่คำว่า ”สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค” ด้วยเพราะความเชื่อดั้งเดิมนั้น “นาค”และ”น้ำ”คือตัวแทนของสิ่งๆเดียวกันที่เป็นความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในแถบนี้ ศิลปวัตถุโบราณทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งความหมายของสินธุ์ที่แปลว่าแม่น้ำลำน้ำ ก็ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพแกะสลักที่กลายเป็นแกะสลักรูปพญานาคแทนน้ำตามความหมายความเชื่อที่ทีมา การยกความมีตัวตนของพญานาคขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ทำขึ้นมาเพียงแค่ตอบโจทย์กิจกรรมแต่ทุกสิ่งได้ผ่านการพูดคุยจากผู้รู้ซึ่งเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เราต้องมีรากทางวัฒนธรรมมารองรับไม่ใช่แค่เป็นเรื่องสมมติขึ้นมา แต่จากการศึกษาตำนานของชาติพันธุ์ล้านช้างหรืออีสาน พบว่าการสร้างบ้านแปงเมืองมักจะผูกติดกับความเชื่อเรื่องพญานาค เช่น นาค 15ตระกูลก็มีส่วนสำคัญในการสร้างอาณาจักรล้านช้าง หรือ อีสานของเราเอง ดังนั้นถ้าเราจะเล่นธีมบูชาพญานาคแห่งสีฐานเฟสติวัลก็เป็นเรื่องที่เราสามารถที่จะทำได้ เพื่อเป็นการบูชาเป็นการขอบคุณต่อบุญคุณของน้ำที่เป็นรูปธรรม นอกจากนั้นการบูชาน้ำหรือการบูชาพญานาคซึ่งนอกจากเป็นการขอขมาต่อแหล่งน้ำที่เราใช้เพื่อดำรงชีวิตแล้ว ยังมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งมีป่าที่สวยงาม มีผู้คนที่มีจิตใจงาม ทุกอย่างที่ดีงามของที่นี่จะมารวมกันเป็น”สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค”
การจัดงาน”สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค”ในปีนี้เรากำหนดไว้ 3 วันเช่นเดิมคือ 9-11 พฤศจิกายน 2562 ที่บึงสีฐานมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรักษาคอนเซปกิจกรรมสำคัญภายใน 3 วันไว้คือ “ศรัทธา มหาสนุก ปลุกวิถีวัฒนธรรม” โดยจะมีการตกแต่งสถานที่และกิจกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามชื่อของงานที่เน้นการนำภาพสัญญลักษณ์ส่วนประกอบต่างๆที่เป็นนาคเข้ามาใช้ภายในงาน เช่น ตุง โคมไฟ รวมทั้งเราจะสร้างเจดีย์ที่เป็นองค์สำคัญในงานให้เราได้บูชา เราจะมีการสร้างพญานาคขึ้นมา 40 ตน ประดับโคมไฟพญานาคจำนวน 3000 ดวง ห้อยตุงพญานาคที่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการของ อาจารย์ นักศึกษา ปราชญ์ชาวบ้าน ช่างท้องถิ่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นการรวมกันของความเชื่อเดิมของชาวบ้านที่ถูกถ่ายทอด รวมทั้งสิ่งที่เราได้เห็นผ่านงานจิตกรรมฝาผนังอีสานล้วนเป็นรากทางวัฒนธรรม มาสอนให้กับนักศึกษาเพื่อสร้างสรรค์จินตนาการเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่จะได้มาเห็นในงาน
ในส่วนของกิจกรรมได้รับความร่วมมือจากนักศึกษา คณาจารย์คณะวิชาต่างๆเช่น ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และอีกหลายคณะมาร่วมมือกันสานก่อให้งานมีความสมบูรณ์แบบ โดยในวันแรกคือวันแห่ง “ศรัทธา”เราจะมีขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุมาเพื่อความเป็นมิ่งมงคลและทำพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยขบวนพญานาค 15 ตระกูล และขบวนขันหมากเบ่งเพื่อมาสักการะหลวงพ่อพระศรี 50 ปี มข. พิธีพุทธาภิเษกหลวงพ่อไทรขาว พิธีอัญเชิญพระอุปคุต และพิธีบวงสรวงพญานาค ส่วนในวันถัดมาก็จะมีบรรยากาศที่สนุกสนานของขบวน kku carnival ที่มีสีสันที่เราเรียกว่า “มหาสนุก” จนถึงวันสุดท้ายที่เป็นจุดสำคัญของการ “ปลุกวิถีวัฒนธรรม”ด้วยการลอยกระทงและไต้ประทีบโคมไฟตามแบบประเพณีในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ในทุกๆวันก็จะมีกิจกรรมลานวัฒนธรรมเพื่อสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมหัตถกรรมของชาวอีสาน การแสดงกระทงไฟและเรือไฟกลางน้ำ กิจกรรมถนนศิลปะ Creative Walking Street การประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง การประกวดศิลปการแสดงพื้นเมืองอีสาน การแสดงหุ่นกระบอกอีสานและหนังประโมทัยที่หาชมได้ยาก การประกวดนางนพมาศ พร้อมกับการเฟ้นหา Miss KKU Angle
“ผมอยากให้ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ออกมาร่วมกันแสดงถึงความภาคภูมิใจในงานที่เกิดจากความร่วมมือกันของ นักศึกษา บุคลากร และทุกส่วนที่มองเห็นร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ตายแล้วให้กลายเป็นวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ใหม่เพื่อให้คนรุ่นลูกหลานยังได้มีโอกาสได้เสพสิ่งที่มีคุณค่า เป็นวัฒนธรรมที่มีรากและเข้าถึงแก่นที่เราได้นำกลับมาเพื่อรับใช้สังคม อยากให้ทุกคนได้มาเห็นว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังทำอยู่ขณะนี้คือโมเดลที่สำคัญที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าวัฒนธรรมไม่มีวันตาย หากเรารู้จักที่จะอยู่และใช้วัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์” รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ กล่าวในที่สุด
ติดตามความเคลื่อนไหวและรายละเอียดกิจกรรม สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค ได้ที่ เว็บไซต์ https://www.kku.ac.th/SithanKKUFestival/ และ เฟซบุ๊ก Sithan KKU Festival
อุดมชัย สุพรรณวงศ์ / เรียบเรียง