รมว.ศธ.ไฟเขียว มข.ต้นแบบนวัตกรรมการเรียนแบบสมาร์ท ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2562 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคณะทำงานกระทรวงศึกษาธิการและสำนักนายกรัฐมนตรี  ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อตรวจเยี่ยมและประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยมีคระผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับประกอบด้วย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธรา ธรรมโรจน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น    รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์    รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์  คณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น   และคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning หรือ KKU Smart Learning  Academy ณ อาคารศูนย์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

      จากสภาวการณ์ของโลกในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทำให้พฤติกรรมการเรียนรู้ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้สอนและนักเรียนในทุกพื้นที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และจำเป็นที่ต้องได้รับการพัฒนา และจากสถิติการปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา ทั้งในระดับพื้นฐานการศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งอ้างอิงได้จากผลการทดสอบทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ การศึกษาพบปัญหาที่ กระบวนและกลไกการจัดการเรียนรู้ที่ยังมีช่องโหว่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนซึ่งเปลี่ยนแปลงไป เนื้อหาการจัดการเรียนรู้ที่บางส่วนล้าสมัย ไม่เป็นปัจจุบัน และขาดการเชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตและระบบการทำงาน ปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้แบบยั่งยืน รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการประเมินผลที่ไม่ยึดโยงกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ และคุณลักษณะที่สังคมโลกและประเทศชาติต้องการ โครงการ KKU Smart Learning Academy จึงเกิดขึ้น ซึ่งนับเป็นรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของนักเรียนให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน สร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนตลอดชีวิต

      นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผยว่า กระทรวงศึกษาธิการพยายามยืดหยุ่น โดยมีเป้าหมายของการศึกษาคือเด็ก เช่น การทำวิทยฐานะของครูต้องหมายรวมถึงโครงการที่พัฒนาเด็กในลักษณะนี้ด้วย  เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือ ไม่ยืดหยุ่น มุ่งทำตามกรอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งนี้ในอนาคตจะลดภาระครูผู้สอน แล้วให้มุ่งตรงไปยังเด็ก  สำหรับโครงการ KKU Smart Learning นั้นเรื่องเทคโนโลยีและกระบวนการ ไม่น่าเป็นห่วง แต่เป็นห่วงเรื่อง ทรัพยากรบุคคลที่ใช้ถ่ายทอดแนวคิดโครงการไปยังครู และตัวครูเองที่ต้องปรับตัวอยู่มาก  แต่มั่นใจว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าใจมีกระบวนการเรียนสอน ที่ดีที่สุดเชื่อว่าจะสามารถผลักดันได้เร็ว

         “ส่วนหากมีอะไรที่ติดขัด เกี่ยวกับนโยบายนั้น กระทรวงจะรีบขยับให้เร็วที่สุด   มั่นใจว่าวันนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหลักของประเทศในเรื่องกระบวนการเรียนการสอนที่จะเดินหน้าพัฒนาการศึกษาไทย จากนี้เตรียมจัดสรรงบประมณปี 63 ยกโมเดลนี้เสนอรัฐบาล ช่วยกันเดินหน้าต่อไป”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวทิ้งท้าย

รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

      รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning หรือ KKU Smart Learning  Academy เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจของนักเรียนในสาระวิชาพื้นฐาน 3 วิชา ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และส่งเสริมทักษะนวัตกรรมและการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อ สารสนเทศและเทคโนโลยี และทักษะด้านชีวิตและอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครู โดยส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาความรู้ความเข้าใจในเนื้อหารายวิชาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน

      “หลักสำคัญของแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ KKU Smart Learning มุ่งเน้นฐานองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ แกนความรู้ (Knowledge) แกนทักษะ (Skills) และคุณลักษณะส่วนบุคคล (Personal attributes) ภายใต้การพัฒนาด้านเนื้อหา (Content) วิธีการสอน (Pedagogy) และสภาพแวดล้อม (Environment)  ในการนำไปสู่สมรรถนะที่คาดหวัง ผู้เรียนจะต้องได้รับความรู้ในเนื้อหาของหลักสูตรในระดับชั้นที่เรียน ได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อและเทคโนโลยี และชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหา ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นด้วยคณาจารย์และนักวิจัยภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและครูผู้ที่มีส่วนร่วมจริงช่วยกันพัฒนาขึ้นในโครงการนี้ เริ่มต้นจาก 3 สาระวิชาหลัก ซึ่งสอดคล้องกับโปรแกรมการวัดสมรรถนะของ PISA ได้แก่ สาระวิชาวิทยาศาสตร์ สาระวิชาคณิตศาสตร์และสาระวิชาภาษาอังกฤษ” รศ.ดร.กุลธิดา กล่าว

รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์

      ด้าน รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์  เผยว่า การผลิตครูในอนาคตเพื่อรองรับผลิตครูนวัตกรที่มีจิตวิญญาณสร้างคนไทยที่มีสมดุลยภาพระหว่างปัญญาประดิษฐ์และปัญญาของมนุษย์  สร้างครูที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านความรู้เชิงเนื้อหา ศาสตร์การสอน การปฏิบัติทางวิชาชีพ  เป็นครูแห่งอนาคตสามารถทำหน้าที่ในบริบท Disruptive Education  บูรณาการรูปแบบการเรียนการสอนตามเส้นทางที่แต่ละคนถนัดและเป้าหมายการเรียนรู้ของแต่ละคน ที่เรียกว่า Personalized Learning Pathway ซึ่งเชื่อว่าครูที่เป็นผลผลิตจากคณะศึกษาศาสตร์จะมีคุณสมบัติดังกล่าวที่ช่วยสามารถขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยได้อย่างแน่นอน ความสำเร็จของ KKU Smart Learning จึงอยู่ที่ความร่วมมือของโรงเรียนและครู ในการนำนวัตกรรมไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน เปลี่ยนชั้นเรียน ปรับวิธีสอน สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างยั่งยืน

      ทั้งนี้ขั้นตอนการทำงานของโครงการ KKU Smart Learning  ได้อาศัยการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา ซึ่งมีงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับและสามารถแก้ไขปัญหาได้ อาทิเช่น การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการทำให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการปฏิบัติตามแนวทางทางงานวิศวกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการแก้ปัญหา (Science and Engineering Practices: SEP) และประยุกต์ใช้แนวคิดร่วมเชิงวิทยาศาสตร์ (Crosscutting Concepts: CC) ซึ่งศึกษาวิจัยโดยเครือข่ายวิจัยการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแนวใหม่, โมเดลการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบ Task-based learning-TBL และ Communicative Language Learning –CLT ซึ่งเน้นให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านภารกิจ และการสื่อสารด้วยการใช้ภาษา ซึ่งศึกษาวิจัยโดยกลุ่มวิจัยของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยสถานการณ์ปัญหาเพื่อสร้างความเข้าใจหลักการของคณิตศาสตร์ สามารถค้นหารูปแบบในเชิงคณิตศาสตร์และนำความรู้คณิตศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนางานในชีวิตประจำวันได้

      การดำเนินการแต่ละสาระวิชา ประกอบด้วย (1) ชุดการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะมีหนังสือเรียน ชุดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนักเรียน สื่อการสอนสำหรับครู และ application ที่ผลิตขึ้นสำหรับครูและนักเรียน (2) คู่มือการจัดการเรียนรู้สำหรับครู และ (3) หลักสูตรและวิธีการอบรมครู   จุดเด่นของ KKU Smart Learning คือ มีมาตรฐานการเรียนรู้ที่สังเคราะห์มาจากสถาบันกำหนดมาตรฐานชั้นนำของโลกและในประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการและ สสวท. เนื้อหาที่เรียนเป็นไปตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด มีเทคนิควิธีสอนและการใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเนื้อหาและพฤติกรรมของผู้เรียน และก้าวข้ามข้อจำกัดในด้านการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบเสมือนจริง

ข่าว/ภาพ  จิราพร  ประทุมชัย

Scroll to Top