คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมงานการประชุมวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Geopark Network Symposium 2024)

เมื่อวันที่  24-25 มิถุนายน 2567 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี และ ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายการศึกษา พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ พร้อมด้วยคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าเทคโนโลยีธรณี มข. เข้าร่วมงานการประชุมวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Geopark Network Symposium 2024) ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยมีอุทยานธรณีขอนแก่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (หน่วยวิจัยไดโนเสาร์)

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีและรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานเปิดงาน นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประชุม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์และผู้ค้นพบไดโนเสาร์ของประเทศไทย เช่น ดร.วราวุธ สุธีธร, ดร.นเรศ สัตยารักษ์, คุณสุธรรม แย้มนิยม และคุณรุจา อิงคะวัต ร่วมเสวนาวิชาการง

 

 

คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญของอุทยานธรณีขอนแก่นในการผลักดันอุทยานธรณีขอนแก่นสู่อุทยานธรณีโลก โดย ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน จากสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ได้ร่วมทำการวิจัยด้านธรณีวิทยาและการท่องเที่ยวเชิงธรณีในพื้นที่ ในฐานะ Geoscientific Staff ของอุทยานธรณีขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษาผ่านค่ายวิชาการ การทำโปรเจคต์ การค้นคว้าอิสระ และโครงงานนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งได้นำมาเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ในงานประชุมครั้งนี้ด้วย

อ.ดร.พิทักษ์สิทธิ์ ดิษบรรจง สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี  กล่าวว่า  “มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ โดยในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนองานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับอุทยานธรณีในประเทศไทย อุทยานธรณี คือ พื้นที่ที่รวมแหล่งธรณีวิทยาและสภาพภูมิประเทศที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยา โดยมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ประกอบด้วยการคุ้มครอง การให้การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน อุทยานธรณีต้องเชื่อมโยงกับทรัพยากรด้านอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ธรรมชาติวิทยา วัฒนธรรม และมรดกที่จับต้องไม่ได้”

ปัจจุบันประเทศไทยมีอุทยานธรณีทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ อุทยานธรณีโลกสตูล, อุทยานธรณีโลกโคราช, อุทยานธรณีอุบลราชธานี, อุทยานธรณีเพชรบูรณ์, อุทยานธรณีขอนแก่น, อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก (จ.ตาก), อุทยานธรณีชัยภูมิ, อุทยานธรณีพุหางนาค (จ.สุพรรณบุรี), อุทยานธรณีกาฬสินธุ์, อุทยานธรณีเชียงราย และอุทยานธรณีลำปาง

Faculty of Technology, Khon Kaen University, attends the 3rd Thailand Geopark Network Symposium 2024

https://www.kku.ac.th/18066

 

 

ข้อมูลข่าว/ภาพ : ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน

 

Scroll to Top