รพ.ทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ กำหนดนโยบายรับมือเข้ม…หยุดให้บริการรักษาทางทันตกรรม ในช่วงแพร่ระบาด COVID-19 พร้อมวางมาตรการลดความเสี่ยง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเข้าสู่ระยะลุกลามอย่างเข้มงวดในสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยการกำหนดนโยบายการรักษาทางทันตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ลดการเดินทางของผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นรับการรักษาเร่งด่วน และลดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกันในพื้นที่จำกัด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่ระยะลุกลามเป็นวงกว้าง โดยกำหนดให้มีการคัดกรองผู้ป่วยอย่างเข้มงวดก่อนเข้าสู่บริเวณรักษาพยาบาล เป็น 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 กำหนดจุดคัดกรอง เป็น one-door screening หน้าประตูทางเข้าตึกโรงพยาบาลทันตกรรม มีการซักประวัติอาการสำคัญที่มารับการรักษาเพื่อคัดกรองความเร่งด่วน ซักประวัติความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และวัดอุณหภูมิร่างกาย โดยใช้ non-contact infrared thermometer ตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค
ขั้นตอนที่ 2 ให้ผู้ป่วยกรอกแบบฟอร์มคัดกรองความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส COVID-19 และเซ็นชื่อกำกับ ก่อนรับการรักษา โดยมีการกำหนดพื้นที่การให้การรักษาเป็นคลินิกเดียว ที่คลินิกศัลยศาสตร์ช่องปากฯ ชั้น 2 ตึกโรงพยาบาลทันตกรรม เพื่อให้ไม่มีการปนเปื้อนที่บริเวณอื่น สะดวกต่อการทำความสะอาด และลดการแพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง และให้หยุดการรักษาทางทันตกรรมทุกชนิด ยกเว้นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อจากการฟุ้งกระจาย
กรณีฉุกเฉินทางทันตกรรม มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แยกตามสาขาทางทันตกรรมเฉพาะทางแต่ละสาขา และมีการจัดเวรทันตแพทย์เพื่อให้บริการ ครบทุกสาขาวิชา ซึ่งมี ขั้นตอนปฏิบัติในการให้การรักษาทางทันตกรรม เป็นไปตามมาตรฐานการรักษา แต่มีการเพิ่มมาตรการเฉพาะ ดังนี้
การเตรียมผู้ป่วยก่อนการรักษาเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากเบตาดีน ความเข้มข้น 0.2-0.5% เป็นเวลา 30-60 วินาที หรือใช้น้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน ความเข้มข้น 0.12% อมกลั้วปาก 1 นาที ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อห้ามการใช้เบตาดีน การให้การรักษาจะมีการจัดห้องแยกไว้เป็นเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการฟุ้งกระจายของละอองน้ำระหว่างการรักษา ทันตแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐาน คือใส่ สวมหมวกกระดาษ, ใส่ surgical mask, face shield และ เสื้อกาวน์ยาวปิดคอปิดแขน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และทันตแพทย์เจ้าของไข้ ได้ทำการเลื่อนนัดผู้ป่วยทุกรายทางโทรศัพท์เพื่อชี้แจงเหตุผลการเลื่อนนัด และเปิดให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และสื่อ social เพื่อให้ผู้ป่วยติดต่อขอข้อมูล หรือปรึกษาก่อนได้ในกรณีที่มีความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนอยากเข้ามารับการรักษา โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ามาติดต่อด้วยตนเอง (โทร. 043-202623, 086-4582164, FB โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น @dentalhospitalkku, เว็บไซต์คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น https://dentist.kku.ac.th/) พร้อมกับให้มีการสรุปรายงานจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา และปัญหาอุปสรรคที่พบหน้างานในทุกวัน เพื่อจะได้ทำการแก้ไขและตอบสนองได้อย่างทันท่วงที โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากร และสังคม
รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ เปิดเผยมาตรการอื่น ๆ ของคณะทันตแพทยศาสตร์ ว่า “ได้มีการตั้งคณะทำงานป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เพื่อติดตามและคัดกรองข้อมูลข่าวสาร กำหนดนโยบาย และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มีการกำหนดจุดคัดกรองบุคลากรและผู้มาติดต่อคณะทันตแพทยศาสตร์ทุกคนอย่างเข้มงวด ปิดทางเข้า-ออก นอกจุดคัดกรอง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เช่น เว้นระยะห่างโดยกำหนดสัญลักษณ์ที่เก้าอี้นั่งรอผู้ป่วย กำหนดระยะห่างของคิวผู้ป่วยและบุคลากรที่รอรับการคัดกรอง ติดสัญลักษณ์กำหนดระยะห่างบนเก้าอี้นั่งในโรงอาหาร กำหนดระยะห่างและจำกัดจำนวนคนในลิฟท์โดยสาร ใช้สื่อการสอนและการประชุมออนไลน์ เป็นต้น ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อ เช่น มือจับบานประตู ผิวเคาน์เตอร์ติดต่อบริการ และห้องน้ำ ทุกชั่วโมง พร้อมกับมีการจัดทำสื่อความรู้การปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสและแพร่กระจายเชื้อแก่บุคลากร ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป”
ด้วยความห่วงใย และตระหนักต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และบุคลากรนั้น คณะทันตแพทยศาสตร์ได้มีการดำเนินการรับมือสถานการณ์ไวรัสไวรัสโควิด 19 มาตั้งแต่ต้น และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการมาโดยตลอด โดยมีทั้งจัดกิจกรรมอบรมการทำหน้ากากอนามัยใช้เอง โดยได้รับวิทยากรจิตอาสา นำโดย รศ.ทพญ.จารุณี รัตนยาติกุล และคุณปิยาวัตติ์ ชำนาญ พร้อมทีมงาน การจัดกิจกรรม “Big Cleaning Day DT ปี 2563” โดยความร่วมมือของบุคลากร ร่วมกันปรับปรุงสถานที่ทำงานให้สะอาด เป็นระเบียบ เรียบร้อย และทำความสะอาดเพื่อให้ปลอดจากเชื้อโรค ตลอดจนฝุ่นละออง เพื่อกระตุ้นเตือน และสร้างบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้ดีขึ้น
รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า “ไวรัสโควิด 19 ซึ่งสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนในกลุ่มผู้สัมผัสที่ใกล้ชิดผ่านทางละอองเสมหะ จากการไอ จาม น้ำมูก และน้ำลาย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้มีอาการป่วย และควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้น้ำยาแอลกอฮอล์ 60% ล้างมือ และไม่นำมือมาสัมผัสบริเวณตา จมูก และปาก เลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ที่มีการระบาด ระวังการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด และอาจมีเชื้อโรคเกาะอยู่ควรล้างมือให้สม่ำเสมอด้วยสบู่ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสสัตว์ต่าง ๆ โดยที่ไม่มีการป้องกัน ควรรับประทานอาหารสุก สะอาด ใช้ช้อนกลาง ไม่ทานอาหารที่ทำจากสัตว์หายาก ควรดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้กลับจากภารกิจต่างประเทศควรกักตัวเองภายใน 14 วัน หากมีอาการป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และแจ้งประวัติการเดินทางแม้ว่าประเทศนั้นจะไม่มีการติดเชื้อก็ตาม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ก็ควรใส่หน้ากากอนามัย หรือใส่แว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันเชื้อในละอองฝอยจากเสมหะหรือสารคัดหลั่งเข้าตา ผู้ที่มีอาการป่วยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ควรงดเดินทาง หรือพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หรือหลีกเลี่ยงที่ชุมชน ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอหรือจาม และทิ้งกระดาษทิชชูลงในถังขยะทุกครั้ง”
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ข้อมูล : คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น