มนุษย์-สังคม มข. ผลักดันความเสมอภาคระหว่างเพศ จัด ซีรีส์เวทีเสวนา เพศต้องพูด ซีซั่น 4 เปิดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 5 (SDG 5) ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางที่จะช่วยส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยได้มีการก่อตั้ง “ศูนย์เพศภาวะศึกษา” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยทางด้านเพศภาวะศึกษา เน้นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สตรี เด็ก และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และมุ่งเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ

ศูนย์เพศภาวะศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มผู้มีความหลากลายทางเพศ หรือ LGBTQI+ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงาน ISAAN PRIDE ที่ได้รับความสนใจและมีกระแสตอบรับที่ดี ถือเป็นการสร้างภาพจำให้พื้นที่ระดับภูมิภาคได้เป็นพื้นที่สร้างความหลากหลาย โอบรับทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกภาษา ทุกศาสนา และอีกหนึ่งกิจกรรมทางวิชาการที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ซีรีส์เวทีเสวนา เพศต้องพูด ซึ่งในปี 2567 นี้ ได้ดำเนินมาถึง ซีซั่น 4 โดยได้รับความร่วมมือจากสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับเพศต้องพูด ซีซั่น 4 ครั้งที่ 1 เริ่มต้นซีรี่ส์ด้วย หัวข้อ “What is FTM? ทำความรู้จักชายข้ามเพศและการเคลื่อนไหวทางสังคมของชายข้ามเพศในประเทศไทย” จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 23 มกราคม 2567  โดยมี คุณอาทิตยา อาษา นักวิชาการอิสระและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของชายข้ามเพศ จากเครือข่ายทอม ผู้ชายข้ามเพศ นอนไบนารี่ เพื่อความเท่าเทียม (TransEqual) เป็นวิทยากร ซึ่งกิจกรรมในช่วงแรกเป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ FTM หรือชายข้ามเพศคืออะไร การเคลื่อนไหวทางสังคมของชายข้ามเพศในประเทศไทยเป็นอย่างไร ถือเป็นการเปิดตัวซีรี่ส์ที่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและกลุ่มผู้มีความหลากลายทางเพศอย่างมาก

คุณอาทิตยา อาษา นักวิชาการอิสระและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของชายข้ามเพศ

ต่อมาในวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2567 ได้จัดเสวนาครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “โรงเรียนในยุคเปลี่ยนผ่าน: การศึกษาเพศภาวะและเพศวิถีในบริบทสถาบันการศึกษาด้วยวิธีชาติพันธุ์วรรณนาออฟไลน์/ออนไลน์” โดยมี คุณลิลิต วรวุฒิสุนทร นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน อาทิ ความเป็นชาย ความเป็นหญิง ความเป็นอื่น การกล่อมเกลาทางเพศในรั้วโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน นักเรียนกับครู และครูกับครู ระบบการศึกษา ได้แก่ กฎระเบียบ หลักสูตร การสอดส่องดูแล homohysteria gender policing เป็นต้น โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากสนามออฟไลน์หรือโรงเรียน และสนามออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย

คุณลิลิต วรวุฒิสุนทร นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

และเพศต้องพูด ซีซั่น 4 ครั้งที่ 3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับเวทีเสวนาในซีซั่นนี้ จัดขึ้นในวันที่  20 กุมภาพันธ์ 2567 ในหัวข้อ Gender and development : เรียน Gender ทำงานอะไรได้บ้างในสังคมไทย” โดยวิทยากรในครั้งนี้คือ คุณพนิดา หันสวาสดิ์ นักวิชาการอิสระ อดีตนักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กลุ่มคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำหรับกิจกรรมในช่วงแรกเป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ ความสำคัญของการเรียนรู้และเข้าใจ gender การเล่าถึงประสบการณ์การทำงานด้าน gender ในภาครัฐ การทำงานของหน่วยงาน/องค์กรที่ทำงานด้าน gender ภาคีที่เกี่ยวข้องกับ gender นโยบายที่ถูกขับเคลื่อนผลักดันจนกระทั่งประสบความสำเร็จ อุปสรรคปัญหาในการทำงานด้าน gender ตลอดจนแนวทางการทำงานด้านดังกล่าวในภาครัฐและเอกชน และในช่วงท้ายเป็นกิจกรรมการตอบคำถามเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

คุณพนิดา หันสวาสดิ์ นักวิชาการอิสระ อดีตนักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ

 

ด้วยความหวังที่จะสร้างพื้นที่ที่มีความเสมอภาคและปลอดภัยทางเพศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมุ่งขับเคลื่อนนโยบายและองค์ความรู้ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม บูรณาการความร่วมมือจากเครือข่ายจากภาคประชาสังคม เดินหน้าทำกิจกรรมที่จะสร้างพื้นที่มหาวิทยาลัยให้มีความเท่าเทียมทางเพศเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ข่าว : กลุ่มสื่อสารองค์กร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ข้อมูลข่าวจาก ศูนย์เพศภาวะศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

Scroll to Top