วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบหมายฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ นำโดย ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นางสาววราภรณ์ ผิวพรรณงาม รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา นำโดย นายธนายุทธ สังข์อินทร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย ให้การต้อนรับ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎรนำโดย นายฐากร ตันฑสิทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานวิสาหกิจต้นแบบในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางสาวอ้อยใจ คำบุญเรือง นายอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น นายวันที เนื่องชุมพล เกษตรอำเภอชุมแพ พร้อมด้วย นางไพริน ชาญชิต ผู้ใหญ่บ้านโนนอุดม หมู่ที่ 6 และในนามประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรตำบลโนนอุดม กล่าวต้อนรับ โดยมี นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น คณะผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรอำเภอชุมแพ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมต้อนรับ ณ วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรตำบลโนนอุดม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ รับฟังการนำเสนอรายละเอียดการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคีเครือข่าย ลำดับแรกของการนำเสนอหัวข้อ “บทบาทมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการขับเคลื่อนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและสังคม โดยรศ.ดร.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีได้มอบหมายให้ ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้แทนในการนำเสนอ
กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะขุมทรัพย์ปัญญาแห่งอีสาน ดำเนินงานพัฒนากำลังคน องค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อเนื่องมากว่า 6 ทศวรรษ ซึ่งปัจจุบันได้ทำงานแบบบูรณาการโดยการขับเคลื่อนผ่านกลไกความร่วมที่สร้างจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Regional Science Park : RSP) ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนวิสาหกิจชุมชน และสถาบันอุดมศึกษา
ยกตัวอย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรตำบลโนนอุดม ที่เราได้มีโอกาสได้ต้อนรับทุกท่านในวันนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้แผนงานผู้จัดการนวัตกรรม (Certified Innovation Manager) มีฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น และวิสาหกิจชุมชนฯ โดยการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ด้านการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ส่งเสริมด้านการตลาด รวมทั้งการให้บริการของห้องปฏิบัติการอาหารแห่งอนาคต (The Next Food Center : NFC) เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เกิดขึ้นจากโครงการ ได้แก่ 1) น้ำนมข้าวทับทิมชุมแพ 2) โจ๊กข้าวทับทิมชุมแพ 3) ข้าวทับทิมชุมแพสำเร็จรูปพร้อมทาน ซึ่งพร้อมสำหรับการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้และยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนต่อไป”
จากนั้น นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงบทบาทของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่นในฐานะภาคีเครือข่ายที่ร่วมผลักดันผลิตภัณฑ์ข้าวทับทิมชุมแพออกสู่ตลาด โดยได้สนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรตำบลโนนอุดมฯ เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและจัดจำหน่ายสินค้าในงาน THAIFEX เมื่อปี พ.ศ. 2565 และปี พ.ศ. 2566 โดยปัจจุบันได้จำหน่ายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อาทิ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอทอปที่ว่าการอำเภอชุมแพ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอทอปศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ร้านของฝากอิหล่าคำแพง ท่าอากาศยานขอนแก่น โดยวางแนวทางต่อยอดในตลาดต่างภูมิภาค ตลาดออนไลน์ ตลอดจนการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อแก้วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต นอกจากนี้ การส่งต่อองค์ความรู้แห่งปัญญาท้องถิ่นจะต้องถูกปลูกฝังและถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังด้วยความร่วมมือดังกล่าวยังต่อยอดการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน “ข้าวทับทิมชุมแพแบรนด์ดิ้ง” โครงการต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา (Continuous and Linking Curriculum:CLC) จังหวัดขอนแก่น โดย ดร.นัตยา หล้าทูนธีรกุล ศึกษานิเทศก์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น กระทรวงศึกษาการอีกด้วย
ใ
ในช่วงท้าย นางไพริน ชาญชิต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรตำบลโนนอุดม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกร และได้ปลูกข้าวทับทิมชุมแพ ที่มีผลวิจัยพบว่า มีโภชนาการสูง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มี “สารแอนโทไซยานิน” และ “โปรแอนโทไซยานิน” ซึ่งช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยบำรุงสายตา จากคุณค่าดังกล่าวถูกเพิ่มมูลค่าจากการสนับสนุนและผลักดันของทุกภาคส่วน ซึ่งในอนาคตทางวิสาหกิจชุมชนจะร่วมพัฒนาให้ห้องบรรจุข้าวสาร อุปกรณ์ เครื่องมือ สถานที่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ให้ได้รับมาตรฐานอาหารและยา (อย.) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างยั่งยืนต่อไป
สนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวทับทิมชุมแพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร 043 048 048 ต่อ 120