ที่แรกของโลก! มข.วิจัย “กากต้นเฉาก๊วย” ผุดผลิตภัณฑ์ชีวมวลหนุนภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ Waste to value

ท่ามกลางความพยายามในการจัดการกับของเสียหรือขยะจากภาคอุตสาหกรรม นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่เพียงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้โจทย์ปัญหา Zero waste แต่ยังต่อยอดจนนำไปสู่การสร้างขยะหรือของเสียให้มีมูลค่า หรือ  Waste to value ซึ่งเป็นเทรนด์ของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกในขณะนี้

 

(ซ้าย) รองศาสตราจารย์ ดร. ยุวรัตน์ เงินเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ขวา) นางสาวฉัตรลดา ไชยวงค์ นักศึกษาปริญญาโท

รองศาสตราจารย์ ดร. ยุวรัตน์ เงินเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ นางสาวฉัตรลดา ไชยวงค์ นักศึกษาปริญญาโท และทีมนักศึกษาปริญญาตรี จึงได้จับมือกับเฉาก๊วยแบรนด์ดังอย่าง “เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง” นำกากต้นเฉาก๊วยซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตที่ถูกฝังกลบทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ปีละหลายพันตันมาเพิ่มมูลค่าจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอัดเม็ด

รองศาสตราจารย์ ดร. ยุวรัตน์ เงินเย็น

 ทีมวิจัยของเรานับเป็นที่แรกของโลกที่นำกากต้นเฉาก๊วยมาสร้างเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ดและตัวดูดซับสารปนเปื้อนได้สำเร็จ มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานได้จริง ยกระดับจาก Zero waste ให้กลายเป็น Waste to value ได้สำเร็จ

ด้วยคุณสมบัติของกากต้นเฉาก๊วยที่ให้ค่าความร้อนที่สูงอยู่แล้ว การนำมาแปรรูปเป็น “เชื้อเพลิงอัดเม็ด” จะยิ่งช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บ รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีความแข็งแรงทนทานมาก และไม่ต้องใช้ตัวประสานในการอัดเม็ด จึงทำให้ลดต้นทุนในการผลิตต่างจากชีวมวลชนิดอื่น ทั้งยังมีคุณลักษณะเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (มอก.)

ไม่เพียงเชื้อเพลิงอัดเม็ด รองศาสตราจารย์ ดร. ยุวรัตน์ ยังชวนทำความรู้จักกับถ่านชีวภาพ (Biochar) และถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) หรือชื่อที่หลายคนคุ้นเคย คือ ชาร์โคล ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยทีมวิจัยได้นำกากต้นเฉาก๊วยมาผ่านกระบวนการสร้างรูพรุนด้วยการให้ความร้อนและสารเคมี เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวของวัสดุให้มีคุณสมบัติในการดูดซับ ก่อนจะพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้าน wastewater treatment โดยดูดซับไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และดูดซับสีย้อมเมทิลีนบลู (Methylene Blue Dye) ซึ่งเป็นสีย้อมที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เพื่อลดมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม

ประสิทธิภาพของถ่านชีวภาพจากกากต้นเฉาก๊วยนั้นดียิ่งกว่าถ่านชีวภาพจากซังข้าวโพดหรือเมล็ดทานตะวันด้วย  รวมถึงถ่านกัมมันต์จากวัสดุชีวมวลอีกหลาย ๆ ชนิด

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ยุวรัตน์ กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า ผลงานวิจัยที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพืชเฉาก๊วยที่ไม่น้อยไปกว่าชีวมวลชนิดอื่น ๆ โดยหลังจากนี้ ทีมวิจัยจะยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกากต้นเฉาก๊วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำขี้เถ้าที่เหลือภายหลังการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากกากต้นเฉาก๊วยมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น อาจนำมาสร้างเป็นอิฐบล็อกจากขี้เถ้ากาก ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานกับคณะหรือสาขาอื่น ๆ เพื่อนำองค์ความรู้มาร่วมกันต่อยอดต่อไป ไม่ให้งานวิจัยหยุดอยู่เพียงบนหิ้งเท่านั้น

ข่าว   :   อภิรดา สมภาค นักศึกษาชั้นปีที่ 4  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.

เรียบเรียง   :   วัชรา   น้อยชมภู

KKU is the first in the world to research on “Jelly Grass Pulp”, the bio-mass product that brings Thai industry towards “Waste to Value”

https://www.kku.ac.th/17361

Scroll to Top