กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการและแปลงสาธิตด้านการเกษตร 60 ปี มข.

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการจัดแสดงนิทรรศการและแปลงสาธิตด้านการเกษตร “60 ปี มข. : บทบาทการพัฒนาภาคการเกษตรที่ยั่งยืนของอีสาน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อวันจันทร์ ที่ 18 ธันวาคม 2566  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการและแปลงสาธิตการเกษตร “60 ปี เกษตร มข. : บทบาทการพัฒนาภาคการเกษตรที่ยั่งยืนของอีสาน” เป็นการส่วนพระองค์ ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

โดยเวลา 13.30 น. รถยนต์พระที่นั่งออกจากอาคารศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ไปยังอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะกรรมการสภาพร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น  รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ผู้แทนคณะเกษตรศาสตร์  คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน และนักศึกษา เฝ้าฯ รับเสด็จ นางราตรี เสาโกศล ภริยารองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และ รศ.ดร. ศิริภาวี เจริญวัฒนศักดิ์ ทูลเกล้า ฯ ถวายพวงมาลัย ตามลำดับ

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าสู่พลับพลาพิธี รศ.ดร. ภาณุพล หงษ์ภักดี เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสารเกษตรและสูจิบัตร รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และ รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กราบบังคมทูลรายงาน

ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะบุกเบิกที่ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยความร่วมมือและการช่วยเหลือของรัฐบาลนิวซีแลนด์ จึงได้ดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนของคณะเกษตรศาสตร์จนแล้วเสร็จ และได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบการทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานประกอบพิธีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510

จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น จวบจนกระทั่งปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกี่ยวเนื่องมาร่วม 60 ปี ที่เหล่าบูรพาจารย์ คณาจารย์ ตลอดจนบุคลากร และนักศึกษาของคณะเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาภาคการเกษตรของภูมิภาคนี้ ช่วยยกระดับรายได้ ฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรทั้งพันธุ์พืช และเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง”

ภายหลังการกราบบังคมทูลรายงาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ประทับรถไฟฟ้าทอดพระเนตรนิทรรศการและกิจกรรมการจัดแสดงพันธุ์พืช การผลิตพืช และแปลงจัดแสดงพันธุ์พืช

จากนั้น เสด็จฯ ทอดพระเนตรหมู่โรงเรือนการผลิตพืชและนิทรรศการ โรงเรือนที่ 1 : จัดแสดงนวัตกรรมการผลิตไม้ดอกและไม้ผลเศรษฐกิจ เทคโนโลยีการผลิตปทุมมานอกฤดู (Night interruption technique) และเทคโนโลยีการติดตามค่าการใช้น้ำของไม้ผลเศรษฐกิจ (Xap flow)  โรงเรือนที่ 2 : การจัดแสดงพันธุ์และนวัตกรรมการผลิตพืชผัก (พริก มะเขือเทศ)  โรงเรือนที่ 3 : การจัดแสดงพันธุ์พืชมูลค่าสูง ในกลุ่มกัญชา กัญชง และกระท่อม โรงเรือนที่  4 : เทคโนโลยีการผลิตผักยกแคร่อินทรีย์  และเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ‘นวัตกรรมการผลิตพืชและสัตว์เศรษฐกิจ : บทบาทการพัฒนาภาคการเกษตรที่ยั่งยืนของอีสาน’

สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการและแปลงสาธิตด้านการเกษตร “60 ปี มข. : บทบาทการพัฒนาภาคการเกษตรที่ยั่งยืนของอีสาน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ มุ่งเน้นการนำผลงานจากการวิจัยและพัฒนาของคณาจารย์และบุคลากร คณะเกษตรศาสตร์ มาจัดแสดงเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่เกษตรกรและผู้สนใจ แบ่งเป็น

ส่วนที่ 1 นิทรรศการและกิจกรรมการจัดแสดงพันธุ์พืช เป็นการจัดแสดงพันธุ์พืชที่พัฒนาโดยคณาจารย์และนักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่น พันธุ์พริก มะเขือเทศ พันธุ์ข้าว KKU 60-1 และ KKU 60-2 พันธุ์พืชมูลค่าสูง กัญชา จำนวน 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย KKU01, KKU60-8, KKU60-9 และ KKU60-11 และกัญชงจำนวน 2 สายพันธุ์ ประกอบด้วย KKU05 และ KKU60-7 พันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ มข. 60 พันธุ์ ข้าวโพด มข. รวมถึงการใช้นวัตกรรมการผลิตพืช ไม้ดอก และพืชเศรษฐกิจ เช่น โรงเรือนผักยกแคร่อินทรีย์ เทคโนโลยีการผลิตปทุมมานอกฤดู (Night interruption technique) เทคโนโลยีการติดตามค่าการใช้น้ำของไม้ผล (Xap flow)

ส่วนที่ 2 กิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมการผลิตพืชและสัตว์เศรษฐกิจ เป็นการจัดแสดงบทบาทของคณาจารย์และนักวิจัย จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพัฒนาภาคการเกษตรของภูมิภาคให้ยั่งยืน โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพืชเศรษฐกิจ รวมถึงการผลิตที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้โดรนเพื่อการตรวจวัดคุณภาพอ้อย การผลิตอ้อยแบบลดการเผาซากเพื่อลดมลพิษฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีน้ำหมักชีวภาพจากากปลาร้าในการผลิตมันสำปะหลังเพื่อลดต้นทุน เทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์เพื่อการควบคุมโรคและแมลง การจัดการธาตุอาหารพืชด้วยปุ๋ยไส้เดือน (Vermi-tech) การจัดการโภชนอาหารสัตว์เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน การพัฒนาไก่สายพันธุ์ไก่เนื้อ และไก่ไข่ เพื่อการผลิตที่ยั่งยืน

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชไร่ และนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว KKU 60-1 และ KKU 60-2 กล่าวว่า การจัดแสดงข้าวปีนี้เป็น พันธุ์ข้าว KKU 60-1 และ KKU 60-2 ที่ปรับปรุงพันธุ์กว่า 18 ปี เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นข้าวเหนียวหอม ซึ่งปรับปรุงพันธุ์มาจากข้าว กข. 6 ซึ่งเป็นข้าวเหนียวหอมที่อ่อนแอต่อโรค คือ โรคขอบใบแห้งและโรคไหม้ โดยพันธุ์ข้าว KKU 60-1 และ KKU 60-2 จะต้านทานต่อ 2 โรคนี้ ทนทานต่อสภาวะดินเค็ม และลำต้นแข็งแรงไม่หกล้ม ทั้งยังเปลี่ยนจากข้าวนาปีที่ปลูกได้ครั้งเดียวต่อปี เป็นปลูกได้ทั้งในและนอกฤดู

 เป็นเกียรติ และดีใจมากที่ได้นำพันธุ์ข้าว KKU 60-1 และ KKU 60-2 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาถวายรายงานให้ทรงทราบ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้นำนวัตกรรมพันธุ์มาช่วยเหลือชุมชนและเกษตรกรภาคอีสานอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรในภาคอีสาน โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์นาภู ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ออกมาสร้างรายได้ให้ชุมชนทั้งยังได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี

ขณะที่ นายธีรภัทร์ วาจาสัตย์ และนายศตพรรษ อุตธรรมมา ตัวแทนนักศึกษาถวายรายงาน สาขาเกษตรนวัตกรรม คณะเกษตรศาสตร์ ระบุว่า รู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่ได้เป็นตัวแทนนักศึกษาในงานครั้งนี้ โดยนวัตกรรมที่นำมาถวายรายงานคือ โรงเรือนผักยกแคร่อินทรีย์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการเกษตรอินทรีย์ในปี 2565 ซึ่งเป็นนวัตกรรมปลูกผักสลัดที่แก้ไขปัญหาพื้นที่มีน้ำขังหรือพื้นที่มีวัชพืชมาก เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เก็บผลผลิตได้ง่ายโดยไม่ต้องก้ม ซึ่งทีมวิจัยมุ่งหวังให้นวัตกรรมนี้สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

 

Scroll to Top