รัฐมนตรีอว.ดัน ‘ยุวชนสร้างชาติ’ มข.ขานรับ ย้ำอันดับ 1 มหาวิทยาลัยอุทิศเพื่อสังคม

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงฯ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ และคณะลงพื้นที่ประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นโยบายและชี้แจงถึงความจำเป็นในการปลดล็อคมหาวิทยาลัย เพื่อปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์ คือ 1) มหาวิทยาลัยที่จะต้องไปแข่งขันระดับโลก 3) มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3) มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economic Model โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับงบประมาณทุนวิจัยของมหาวิทยาลัย และโครงการต่าง ๆ ของ อว. ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.สพญ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รศ.ดร. พรเทพ ถนนแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยี พร้อมด้วยดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ เข้าร่วมประชุมรับมอบนโยบายจากรัฐมนตรี รวมทั้งนำผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดหอมระเหย AYA และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแสดงภายในงานนี้ด้วย

จากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้ประกาศเจตนารมณ์การสร้างคนผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฎิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วย โครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1) โครงการยุวชนอาสา: สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) เรียนรู้และพักอาศัยในชุมชนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน (4-5 เดือน) และได้รับหน่วยกิตเทียบเท่าการเรียนในชั้นเรียนทั้งภาคเรียน 2) โครงการบัณฑิตอาสา: สำหรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) ลงพื้นที่พักอาศัยและทำโครงการในชุมชนเป็นระยะเวลา 12 เดือน และ3) โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ : สำหรับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่มีความสนใจเป็นผู้ประกอบการ และต้องการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสตาร์ทอัพ (Start-up)

ศ.สพญ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการสนับสนุนนักศึกษาผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรสหกิจศึกษาที่ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 ได้ออกไปทำงานจริงในสถานประกอบการเพื่อพัฒนาการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะให้แต่ละหลักสูตรเข้ามาทำงานร่วมกันในการเข้าไปแก้ไขปัญหาชุมชนหรือสังคมด้วยนวัตกรรม​ภายใต้โครงการ​ยุวชนอาสา นอกจากนี้บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย​ขอนแก่นส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ การให้โอกาส​กับบัณฑิตที่กำลังจะจบในการรวมตัวกันจากหลากหลายสาขาในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย​ อีกทั้ง​ มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการ​ เช่น ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (สถาบันแม่ข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)​ Innovation hub และศูนย์​ทรัพย์สินทางปัญญา กลไกหลักที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางภาค​ตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ “ยกระดับเกษตรกรอำเภอกระบวนสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer)” โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเผยว่า “กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สอว. เข้ามาสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งผ่านฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่กำกับดูแลการดำเนินงายของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน (Industrial Research and Technology Capacity Development Program หรือ IRTC) มีภารกิจที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับการผลิตและแปรรูป ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกร สมาชิก 23 คนที่รักในวิถีเกษตรอินทรีย์ เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยหมักนม การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำผลผลิตมาใช้ในการปลูกผักเพื่อการผลิตสินค้าเกษตรสำหรับบริโภคในชุมชนและส่งขายในพื้นที่เขตจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์และอุดรธานี จนเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่กำลังการผลิตของกลุ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอีกทั้งยังขาดบุคลากรหรือแรงงานภาคเกษตร เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ถือว่าเป็นเกษตรกรประณีตที่ต้องการการดูแลจากเกษตรกรอย่างมากเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง”

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ขับเคลื่อนภารกิจที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนมาโดยตลอด จนถูกจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างผลกระทบสูงเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยตามพันธะ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ 11 ใน 17 ข้อตามรายงานล่าสุดของ THE World University Impact Rankings 2019 ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ภาพ/ข่าว : ณัฐกานต์ อดทน

 

 

Scroll to Top