CLE HUSO KKU จัดประชุมวิชาการระดับชาติ “กำหนดสัทอักษรถอดเสียงภาษาไทย” เตรียมเสนอราชบัณฑิตฯ เป็นทางเลือกระบบสอนชาวต่างชาติ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566  ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับเครือข่าย ได้แก่ ศุมา สถาบันภาษาและวัฒนธรรม สำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดประชุมวิชาการระดับชาติ การสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ครั้งที่ 1 เรื่อง “การกำหนดสัทอักษรถ่ายถอดเสียงภาษาไทยสำหรับสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ” ณ ห้องประชุม 3 อาคาร HS.05 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารศรี  สอทิพย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิศเรศ  ดลเพ็ญ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมวิชาการ จากนั้นเป็นการมอบรางวัลบุคลากรดีเด่นด้านการสอนภาษาไทยหรือ/และเผยแพร่วัฒนธรรมไทย “ผู้มีคุณูปการด้านภาษาและวัฒนธรรมไทย” ประจำปี 2565 ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ศุมา สถาบันภาษาและวัฒนธรรม

การประชุมวิชาการหัวข้อดังกล่าวเป็นครั้งแรกของการจัดประชุม ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนี้ขึ้น เริ่มด้วยการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การกำหนดสัทอักษรถ่ายถอดเสียงภาษาไทยสำหรับสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ” ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร. หม่อมหลวงจรัลวิไล จรูญโรจน์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ ดร.เชิดชาติ หิรัญโร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นวิทยากร โดยมีอาจารย์ศศิธร ยากรณ์ พิทยรัตน์เสถียร  ศุมา สถาบันภาษาและวัฒนธรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ และภาคบ่ายเป็นการนำเสนอบทความทางด้านการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ จำนวน 9 บทความ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิศเรศ  ดลเพ็ญ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ชาวต่างชาติในปัจจุบันรู้จักภาษาไทยกว้างขวางมากขึ้น หลายคนรู้จักภาษาไทยผ่านสื่อบันเทิง การท่องเที่ยว การติดต่อสัมพันธ์กับคนไทย หรือแม้แต่ใช้ภาษาไทยเพื่อติดต่อธุรกิจการค้า มีชาวต่างชาติจำนวนมากสนใจเรียนภาษาไทย แต่ปัญหาการเรียนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่มักพบเป็นประจำ คือ ปัญหาเรื่องการออกเสียงภาษาไทยให้ถูกต้อง หรือออกเสียงให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษา เมื่อเริ่มเรียนภาษาไทยครั้งแรก ชาวต่างชาติบางคนมีปัญหาในการออกเสียงภาษาไทย กล่าวคือไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะ เสียงสระบางเสียง หรือแม้แต่เสียงวรรณยุกต์ได้ถูกต้อง

“การกำหนดชุดอักษรแทนเสียงภาษาไทยที่ได้มาตรฐานและเอื้อต่อการเรียนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจและออกเสียงภาษาไทยได้ง่าย ถูกต้อง ชัดเจน และใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา การประชุมวิชาการเพื่อกำหนดชุดสัทอักษรแทนเสียงภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติจึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ผู้สอนสามารถเลือกใช้ชุดอักษรแทนเสียงดังกล่าวเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับถ่ายถอดเสียงภาษาไทยเพื่อเขียนตำรา หรือใช้สอนชาวต่างชาติให้ออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้องชัดเจนเหมือนเจ้าของภาษา”

 

ทั้งนี้ การจัดงานในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งทางวิชาการ เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์ผู้สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ได้พัฒนาศักยภาพเพิ่มพูนความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์วิจัย ทำให้นักวิชาการได้มีเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสัทอักษรถ่ายถอดเสียงภาษาไทย รวมทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการ “กำหนดสัทอักษรถ่ายถอดเสียงภาษาไทยสำหรับสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ” ให้เป็นตัวเลือกสำหรับใช้สัทอักษรในการสอนภาษาไทยให้ตรงกัน ไม่ว่าผู้เรียนจะเรียนจากสถาบันการศึกษาใดทั้งในประเทศหรือต่างประเทศก็จะเข้าใจเสียงและระบบสัทอักษรได้ในรูปแบบเดียวกัน และยังจะได้เสนอระบบสัทอักษรดังกล่าวต่อราชบัณฑิตยสภา เพื่อกำหนดใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการถ่ายถอดเสียงภาษาไทยสำหรับสอนภาษาไทยให้สอนชาวต่างชาติในลำดับต่อไป

 

ข่าว : ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต

ภาพ : กลุ่มสื่อสารองค์กร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

CLE HUSO KKU holds a national conference on “Setting Phonetics Transcripts of Thai Alphabets” – preparing to submit to Royal Society of Thailand for Thai language teaching for foreigners

https://www.kku.ac.th/16720

Scroll to Top