วันพฤหัสบดี ที่ 13 กุมภาพันธุ์ 2563 นพ.โชคชัย โชติบูรณ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้ให้ความรู้เรื่อง “การคุมกำเนิดและการคุมกำเนิดฉุกเฉิน” เพื่อตระหนักถึงการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีและการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดำเนินรายการโดยคุณเบญจมาภรณ์ มามุข ผ่านรายการรอบรั้ว มข. ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 10.10-11.00 น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz.
จากสถานการณ์การคุมกำเนิดของคนไทยในแต่ละช่วงอายุในปี 2562 พบว่า การไม่ได้คุมกำเนิดมีอัตราที่สูงกว่าการคุมกำเนิด ซึ่งจะเห็นได้จากการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์ในสภาวะที่ไม่พร้อม หรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ขึ้นได้ ฉะนั้นการที่จะทำให้ลดปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ลงได้จะต้องเรียนรู้ถึงวิธีการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะทำให้ได้เข้าใจและมีช่องทางในการปรึกษากับแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดได้อย่างถูกวิธี
นพ. โชคชัย โชติบูรณ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ แผนกตั้งครรภ์ แผนกนรีเวช และแผนกวางแผนครอบครัว ที่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิดได้ ซึ่งการคุมกำเนิดคือ วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ในช่วงวัยที่ไม่พร้อมหรือช่วยเหลือผู้ป่วยที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
นพ. โชคชัย โชติบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการคุมกำเนิดจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ การคุมกำเนิดแบบถาวรหรือการทำหมันชายหรือหญิง สำหรับบุคคลที่มีบุตรเพียงพอและในอนาคตไม่อยากมีบุตรเพิ่ม และการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว จะมีวิธีดังนี้ การฝังยาคุมกำเนิด จะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบฝัง 3 ปี และ แบบฝัง 5 ปี โดยจะฝังแคปซูลในแขนข้างที่ไม่ถนัด ซึ่งในแคปซูลจะมีฮอร์โมนโปรเจสตินที่จะค่อย ๆ ปล่อยออกมาทำให้เกิดการกดรังไข่ไม่ให้ไข่ตก หรือถ้าต้องการที่จะมีบุตรสามารถถอดการฝังยาคุมออกและรอเป็นเวลา 3 เดือนหลังการถอดเพื่อเตรียมพร้อมต่อการมีบุตรได้ สำหรับเด็กที่อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ ทางโรงพยาบาลของรัฐมีการฝังยาคุมให้บริการฟรี ในส่วนของการฉีดยาคุม ที่จะมีการฉีดทุก ๆ 1 หรือ 3 เดือน ที่มีค่าใช้จ่ายไม่แพงและช่วยลดอาการปวดประจำเดือน แต่ข้อเสียอาจจะทำให้เลือดออกกะปลิดกะปรอยและน้ำหนักเพิ่มขึ้น
สำหรับยาคุมกำเนิดแบบกิน จะมีฮอร์โมนเอสโทรเจนและโปรเจสติน ที่ช่วยในการกดรังไข่ไม่ให้ไข่ตก ที่จะมีแบบธรรมดา และแบบฉุกเฉินจะต้องใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องกินให้ตรงตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้ผลของยาคุมมีประสิทธิภาพ ข้อดีทำให้ลดอาการปวดและประจำเดือนมาปกติ ลดสิว ลดหนวดและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่ข้อเสียอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดดำอุดตัน ส่วนความเสี่ยงเรื่องมะเร็งเต้านมข้อมูลยังไม่เป็นที่ชัดเจน บางรายงานบอกว่าเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยถ้าใช้เป็นเวลานาน แต่บางรายงานก็บอกว่าไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
นอกจากนี้การใช้ถุงยางอนามัย ถือว่าเป็นวิธีที่ผู้หญิงและผู้ชายสามารถที่จะป้องกันได้ง่ายจากการมีเพศสัมพันธ์ ที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และสามารถป้องกันการติดเชื้อหรือโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ดีที่สุด ทั้ง HIV ไวรัสตับอีกเสบ ซิฟิลิส และไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งองคชาติและวิธีสุดท้ายการใส่ห่วงอนามัย เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีลักษณะเป็นรูปตัวที (T) มีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ใช้วิธีใส่เข้าไปให้พอดีกับมดลูก ทำหน้าที่ป้องกันอสุจิไม่ให้เข้าไปปฏิสนธิกับไข่
สุดท้าย นพ. โชคชัย โชติบูรณ์ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “สำหรับวัยรุ่นที่ไม่กล้าปรึกษากับครอบครัว คุณครู หรือเพื่อน ในทางกฎหมายได้มี พ.ร.บ. ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 สามารถที่จะคุ้มครองและให้การช่วยเหลือในด้านการปรึกษาแก่วัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 20 ปี ได้เข้ามาปรึกษากับแพทย์ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อที่เราจะสามารถให้ความรู้ในการมีเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ให้แก่เด็กได้โดยตรงและเหมาะสมที่สุด ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เด็กไม่เกิดการวิตกกังวลและลดความเขินอาย หรือช่วยให้เด็กสามารถที่จะมีวิธีการในการดูแลตัวเอง สุดท้ายครอบครัวคือปัจจัยสำคัญที่จะเป็นศูนย์กลางของการสร้างความเข้าใจระหว่างเด็กและครอบครัวได้เป็นอย่างดี” นพ. โชคชัย กล่าว
ทั้งนี้หากเกิดโอกาสที่จะมีเพศสัมพันธ์แพทย์แนะนำควรใช้วิธีการคุมกำเนิดทันทีหรือปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำแนะนำในการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน นอกจากนี้ทางภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน่วยบริการในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยการให้ผู้ป่วยรีบมาที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจดูอาการ ให้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และความเสี่ยงจากโรคติดต่อ และมีทีมแพทย์สำหรับผู้ถูกกระทำที่เป็นเด็ก นักสังคมสงเคราะห์ให้การช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป
ข่าว : นางสาววนิดา บานเย็น นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ กองสื่อสารองค์กร