นักวิจัย มข.ชี้ฝุ่นพิษ PM2.5 ทำให้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน ถึง 44% เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผ่านวิทยุ มข.เพื่อชุมชน

ประเด็นฝุ่นพิษ PM 2.5  หลายคนมีความรู้มากยิ่งขึ้นจากสื่อต่างๆแต่จะมีสักกี่คนที่ให้ความตระหนักถึงต้นเหตุของการเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเลี่ยงในการหายใจสูดเอาฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกาย  ด้วยการที่ร่างกายไม่แสดงอาการทันที  “พูดง่ายๆ มันไม่ตายทันที”  จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กลัว  แต่รู้ไหมว่าหากเราหายใจสูดเอาฝุ่นพิษ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย เป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานวันสะสมจะทำให้เราป่วยเป็นโรคร้ายแรง จากการศึกษาพบว่าสารพิษที่อยู่ในฝุ่น PM 2.5 มีความรุนแรงเทียบเท่าควันบุหรี่เลยทีเดียว  จึงไม่แปลกถ้าร่างกายคนเรารับฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นเวลานานๆ  เราจะป่วยเป็นโรค ทางเดินหายใจ ลามไปถึงโรคมะเร็งปอด  ผู้หญิงตั้งครรภ์สูดเข้าไปส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ผู้สูงอายุสูดเข้าไปทำให้เป็นอัลไซเมอร์  เป็นต้น   สิ่งที่เราควรทำและทำได้เลยตอนนี้ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่เผาขยะ เผาไร้อ้อย เผาฟางข้าว ในพื้นที่การเกษตร  ตรวจเช็คสภาพรถเพื่อลดการปล่อยควันดำ เพิ่มจำนวนต้นไม้ รักษาสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เริ่มได้ที่ตัวเราและขอให้ขยายไปสู่คนที่เรารัก

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.thaihealth.or.th/

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5  รัฐบาลให้ความสำคัญและถือเป็นวาระแห่งชาติ  รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน  จึงได้นำเสนอประเด็นอันตรายจากฝุ่นพิษ PM 2.5  โดยมี รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมพูดคุยกับเครือข่ายชุมชน นางสาวภาณิศา  มุ่งประสิทธิชัย รองประธานชุมชนหนองแวงตราชู 2 เทศบาลนครขอนแก่น และประธานเครือข่ายHealthy Forum ภาคอีสาน และ นางบัวเรียน พิมพ์ศรี ประธานชมรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุชุมชนหนองไผ่ หมู่ 16 ตำบลศิลา  ซึ่งออกอากาศทาง FM.103 MHz. เวลา 15.00-16.00 น. เมื่อวันอังคาร ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563  สามารถฟังย้อนหลังได้ผ่านทาง https://radio.kku.ac.th/ และเพจเฟซบุ๊กรายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน

(จากซ้าย) น.ส. ภาณิศา มุ่งประสิทธิชัย รศ.ดร. พรพรรณ สกุลคูล และ นางบัวเรียน พิมพ์ศรี

รศ.ดร. พรพรรณ  สกุลคูล สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในรายการว่า ความจริงแล้วาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นที่อยู่ในบรรยากาศมีมานานแล้ว มีขนาดเล็กมากถึง 40 เท่า ถ้าเปรียบเทียบกับเส้นผมของคน สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆได้ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคขั้วปอดอักเสบ  โรคทางเดินหายใจ  กิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น  การเผาขยะ การเผาอ้อย การก่อสร้าง และ การปล่อยควันดำของรถ รวมถึงเกิดจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ  ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องมือที่สามารถตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ใน 34 จังหวัดเท่านั้น  การตรวจจะมีเครื่องตรวจและใช้ไฟฟ้าในการตรวจซึ่งจะให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงถึงเดือนละ 8,000บาท  สำหรับภาคอีสานจะมีเครื่องที่ตรวจวัตได้เพียง 3 เครื่อง คือ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเลย มีโมบายคาร์หรือรถเคลื่อนที่จังหวัดมุกดาหาร

นางสาวภาณิศา มุ่งประสิทธิชัย  และ แม่บัวเรียน  พิมพ์ศรี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในรายการว่า  สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ในชุมชนส่วนใหญ่มาจากการเผาขยะ เผาหญ้า เศษไม้  จนบางครั้งเกิดการร้องเรียน ทะเลาะกันกับเพื่อบ้าน ชาวบ้านในชุมชนเมืองส่วนใหญ่รู้ว่าผิดกฎหมาย มีคนไปร้องเรียน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ การบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง เหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ และมันก็ส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน และเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม   และโชคดีมากที่วันนี้ได้มาร่วมรายการได้มาฟังความรู้จากอาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะนำความรู้ที่ได้ฟังในครั้งนี้ไปบอกต่อเพื่อนและคนในชุมชน ในฐานะตัวแทนของชุมชน เราจะเริ่มปรับพฤติกรรมเพื่อเป็นตัวอย่าง นำชาวชุมชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5

รศ.ดร. พรพรรณ สกุลคูล สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร. พรพรรณ  สกุลคูล  ได้กล่าวแนะนำต่อว่า  เรื่องนี้ต้องเริ่มที่จิตสำนึก ของพวกเราก่อนอันดับแรก  หน้าที่ของนักวิจัยคือศึกษาหาทางออกแล้วสื่อสารกับประชาชน รายงานผลเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ในเชิงระบบต่อไป  ปัจจุบันนักวิจัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้มีการพัฒนานำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาจัดการกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยมีการศึกษาร่วมกัน รศ.ดร.พญ.ศิริรัตน์  อนุตระกูลชัย  นพ. อภิชาติ  โซ่เงิน  พญ.กรรณิการ์ คงบุญเกียรติ  ทีมนักวิจัยในกลุ่มวิจัยป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยทีมนักวิจัยได้นำข้อมูลจากดาวเทียมมาศึกษาหาค่าความสัมพันธ์ของปริมาณความลึกเชิงแสงของละอองลอย (Aerosol Optical depth :AOD) สามารถแปรปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 ว่าในแต่ละพื้นที่มีจำนวนเท่าไร แล้วนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรค เช่น โรคเกี่ยวกับสมอง หลอดเลือด โรคไต โรคปอด ของจำนวนคนที่นอนรักษาตัวในโรคพยาบาลในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์กันจริงๆ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย 37,000 ราย มีความเสี่ยง เป็นโรคหลอดเลือดอุดตันเพิ่มขึ้น 44 % และมีการศึกษาต่อไปว่าองค์ประกอบของฝุ่นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีสารอะไรบ้าง ซึ่งก็พบว่าสารต่างๆ มีส่วนคล้ายกับสารที่อยู่ในควันบุหรี่ และยังมีโลหะหนัก ตะกั่ว สารหนู ปรอท ตะกั่ว เป็นต้น จึงอาจเรียกได้ว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นควันบุหรี่พันธ์ใหม่  งานวิจัยเรื่องนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ  เราได้เสนอผลการศึกษายังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบ และพยายามสื่อสารออกไปให้ประชาชนรับทราบถึงปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงของฝุ่น ให้ทุกคนเกิดการตระหนัก เราทุกคนต้องช่วยกันอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ขอบคุณภาพประกอบจากhttps://www.greenpeace.org/thailand/

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ถือเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่ประชาชนสามารถหาความรู้และรลดความเสี่ยง เพื่อหาวิธีการดูแลสุขภาพได้  โดยช่วงท้ายของรายการ รศ.ดร. พรพรรณ  สกุลคูล   ได้แนะนำให้ดาวโหลดแอพพลิเคชั่น Air4 Thai  ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งดูข้อมูลได้ง่ายและสะดวกเชื่อถือได้ นอกจากนั้น การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องทำควบคู่ไป เช่นการออกกำลังกายวันไหนมีฝุ่นเยอะ ก็ขอให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคารแทน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถต่อสู้กับฝุ่นพิษ PM 2.5ได้อีกทางหนึ่ง และสามารถดาวโหลดคู่มือความรู้ฝุ่นพิษ PM 2.5 คลิก

 

ข่าว /ถ่ายภาพ : ชุตินันท์  พันธ์จรุง และ ศิริวรรณ ดวงตีมูล

Scroll to Top