.
ผลจากการวิจัย สะท้อนให้เห็นว่า อบจ. มีความพร้อมและความชัดเจนด้านนโยบายในการรับถ่ายโอน รพ.สต. ซึ่งความชัดเจนของนโยบาย (Clear Policy Goal) ของ อบจ. นั้น นำไปสู่ความมั่นใจต่อ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนทั้งในมิติของการบริหารจัดการและความมั่นคงในวิชาชีพ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยภาวะผู้นำของทีมผู้บริหาร อบจ. นำไปสู่การมอบและเพิ่มอำนาจการตัดสินใจทางการบริหารให้กับ รพ.สต. การดำเนินการเหล่านี้คือปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของการถ่ายโอน รพ.สต. ในกรณีของ อบจ.ขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการดำเนินการถ่ายโอน พบว่า มีประเด็นที่นำไปสู่โอกาสใหม่หรือมิติใหม่ในการทำงานภายใต้โครงสร้างใหม่ เช่น การเติบโตของสายงานของบุคลากร ขณะที่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องการการแก้ไขอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ยกตัวอย่างประเด็นสำคัญ ๆ เช่น ความรับผิดชอบของบุคลากรที่คงอยู่ของ รพ.สต. เกินกำลังหน้าที่ อันเนื่องจากบุคลากรจำนวนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ย้ายมากับการถ่ายโอนได้ย้ายไปสังกัดส่วนงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประเด็นนี้อาจส่งผลต่อคุณภาพการบริการและการตอบสนองประชาชน นอกจากนั้น บุคลากรผู้ปฏิบัติงานยังต้องการสร้างความมั่นใจและความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบด้านการบริหารจัดการของโครงสร้างใหม่ อีกทั้งในการทำงานที่ผ่านมาก่อนการถ่ายโอน รพ.สต. ต้องทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่น ๆ ในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิอีกหลายหน่วยงาน แต่หลังจากที่ถ่ายโอนมาแล้วเมื่อโครงสร้างเปลี่ยน ความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันภายใต้โครงสร้างใหม่อาจส่งผลต่อการทำงานในเชิงเครือข่าย เช่น อสม. สสอ. สสจ. และเครือข่ายระบบบบริการสุขภาพภายใต้โครงสร้างเดิม ในส่วนของการการอุดหนุนงบประมาณพบว่าภายใต้โครงสร้างใหม่นั้นการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณควรเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมกับภารกิจการบริการประชาชน อีกทั้งจะต้องลดภาระการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานให้กระชับขึ้นเพื่อจะได้มีเวลามาให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้นซึ่งต้องนำเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนในการทำงานและการประสานงานกับเครือข่ายแบบไร้รอยต่อ
.
ถึงแม้ว่าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มายัง อบจ. จะอยู่ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินการก็ตาม แต่นี่คือโอกาสสำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาถึงแม้ในบางประเด็นจะมีข้อจำกัดหรือเกิดประเด็นปัญหาขึ้นแล้วก็ตาม คณะผู้วิจัยจึงได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในระยะสั้น คือ การพัฒนาบุคลากรให้พร้อมกับการปฏิบัติงานภายใต้โครงสร้างใหม่ทั้งที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมองค์กร วิชาชีพเฉพาะ และที่เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการ รวมถึงการกำหนดส่วนงานบริการแบบบูรณาการ (one stop service) เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานและให้คำปรึกษา ในระยะยาว อบจ. แต่ละแห่งต้องกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของ กองหรือสำนักสาธารณสุขให้มีบทบาทสำคัญในการดูแลภารกิจของ รพ.สต. และกำหนดสัดส่วนบุคลากรที่ทำหน้าที่ที่ครอบคลุมภารกิจต่าง ๆ ให้มากขึ้น มีการประสานงานกันระหว่าง รพ.สต. กับ อบจ. แบบไร้รอยต่อ มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง มีการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้สอดคล้องกับความสามารถและกระชับเครือข่ายของ CU ให้ทำงานร่วมกันแบบประสานความร่วมมือถึงแม้ว่าในเชิงโครงสร้างจะแยกจากกันก็ตาม และที่สำคัญคือการปรับปรุงโครงสร้างและกฎระเบียบที่ อบจ. เคยใช้อยู่แต่เดิมให้สอดคล้องกับบริบทโครงสร้างใหม่ที่ อบจ. มีส่วนงาน รพ.สต. กระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งกฎระเบียบเดิมออกแบบมาสำหรับ อบจ. ที่ส่วนงานรวมศูนย์ที่จุดเดียว ซึ่งความไม่เอื้อของกฎระเบียบนั้นส่งผลต่อความล่าช้าในการตัดสินใจ ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการประชาชน
.
ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานวิจัยโครงการฉบับสมบูรณ์ได้ที่: https://kku.world/bj1xk
.
รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา นักวิจัย
ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม นักวิจัย
ผศ.ดร.กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ นักวิจัย
ดร.ปานปั้น รองหานาม นักวิจัย