คณะเกษตร มข. จัดประชุมวิชาการ ผลักดันกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง – ล้านช้าง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ พร้อมๆการลดก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 เวลา 08.30 น.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรอาหารสัตว์เขตร้อน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดโครงการ Lancang-Mekong Cooperation Special Fund (LMCSF) Project Workshop ในหัวข้อ “Recycling of agricultural biomass and fodder shrubs for beef cattle production”  หรือ โครงการการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ของชีวมวลการเกษตร และทรัพยากรอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ โดยมี ศ.ดร. เมธา วรรณพัฒน์ (หัวหน้าโครงการ) กล่าวรายงานการจัดงาน รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ในการนี้มีกงสุลจาก สาธารณรัฐประชาชนจีน สปป.ลาว เวียดนาม คณะผู้บริหาร นักวิจัยกว่า 80 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศ กัมพูชา จีน ลาว เวียดนาม และไทย ร่วมกิจกรรม ณ ห้อง Orchid ballroom 1 โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด ขอนแก่น

สำหรับโครงการการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ของชีวมวลการเกษตร และทรัพยากรอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ในประเทศสมาชิกด้วยเทคโนโลยี และ นวัตกรรมการให้อาหารโดยใช้เศษเหลือทางการเกษตรเป็นอาหารสัตว์  และ เพื่อเพิ่มพูนทักษะและเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัยที่มีศักยภาพสูงด้วยระเบียบวิธีวิจัยใหม่เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการหมัก ลดการผลิตก๊าซมีเทน ตลอดจนประเมินคุณค่าทางโภชนะของอาหารสัตว์ ปริมาณและคุณภาพเนื้อวัว เพื่อให้ได้การผลิตโคเนื้ออย่างยั่งยืน

ศ.ดร. เมธา วรรณพัฒน์ (หัวหน้าโครงการ) กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติเรื่อง “Recycling of agricultural biomass and fodder shrubs for beef cattle production RABIF-BeefC หรือ โครงการการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ของชีวมวลการเกษตร และทรัพยากรอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ” เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMCSF) ของประเทศจีน มีระยะเวลาดำเนินการระหว่าง ปี 2565-2567

“เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันความต้องการอาหารที่มีโปรตีนจากสัตว์ เป็นที่ต้องการมากขึ้นทั่วโลก เนื่องจากการเติบโตของประชากรโลกที่มากขึ้น ซึ่งโครงการ RABIF-BeefC นี้ มีเป้าหมายเพื่อผลิตเนื้อวัวคุณภาพสูงอย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้กากพืชผลทางการเกษตร และให้ความสำคัญต่อการลดการผลิตก๊าซมีเทนในกระเพาะรูเมนผ่านการเสริมอาหารอัดเม็ดที่มีสารพฤกษเคมี (phytonutrient pellet) ในโคเนื้อ”

รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การผลิตเนื้อวัวที่ได้คุณภาพดี ไปพร้อมๆกับการ ปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและท้าทายมาก โครงการในวันนี้จึงจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่จากประเทศสมาชิก ล้านช้าง-แม่น้ำโขง มีความรู้และใช้นวัตกรรมการใช้เศษเหลือทางการเกษตรเป็นอาหารสัตว์ให้มากขึ้นใน  เชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของ ศ.ดร.เมธา วรรณพัฒน์ นักวิจัยระดับสูงของโลก จะนำพาทุกท่านไปสู่เป้าหมายสูงสุดนี้ได้ โดยเฉพาะการสร้างพลังให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ และ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตโคเนื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า พวกเราขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการมอบทุนของโครงการนี้ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ซึ่งเป็นวิจัยชั้นนำของโลกด้านสัตวศาสตร์ และโดยเฉพาะในฐานะ High-end Foreign Expert และได้รับรางวัล Yunnan Friendship Award จากรัฐบาลจีนในประจำปี 2563 ที่นำนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพจากประเทศกัมพูชา จีน ลาว เวียดนาม และไทย ร่วมแสดงพลัง และแบ่งปันแนวความคิดและประสบการณ์ภายใต้หัวข้อการใช้เศษเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องและลดการปล่อยก๊าซมีเทน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมทุกคนจะสามารถช่วยแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเพื่อผลประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการเชื่อว่า ทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะได้รับประโยชน์ ในการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อในประเทศของท่าน รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ มีกำหนดการเป็นระยะเวลา 3 วัน โดยมีการบรรยายโดยนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ การลงมือปฏิบัติจริงในการทำฟางยูเรียไลม์ (U-lime Straw) การเตรียมอาหารพฤกษเคมีอัดเม็ด ( PTNP) จากเปลือกผลไม้ และการนำเสนอแผนงานของแต่ละประเทศในกลุ่ม LMC ซึ่งในวันนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน เป็นนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่มีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดวงการการผลิตโคเนื้อ และ คาดไว้อย่างสูงว่าความรู้และประสบการณ์จากโครงการนี้จะส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อในประเทศสมาชิก กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ต่อไป

ข่าว  : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : ศศิธร สูงนารถ

Faculty of Agriculture, KKU holds a conference to increase production efficiency of beef cattle and reduce greenhouse gas among Me Kong Lancang countries

https://www.kku.ac.th/16176

Scroll to Top