ทีมนักวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มข. นำเสนอผลงานในมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 10-12 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา คณาจารย์นักวิจัยโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการทางวัฒนธรรมในสังคมเสมือน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ประกอบด้วยคณาจารย์จากสหสาขาวิชาและผู้เชี่ยวชาญจาก วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานที่เกิดจากการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ในงานมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคอีสาน ณ ลานถนนคนเดินเลียบแม่น้ำมูล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน มีสถาบันอุดมศึกษากว่า 14 แห่งในภาคอีสานที่ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เข้าร่วมในงานดังกล่าวด้วย

โครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ มข. ได้นำผลผลิตจากการดำเนินโครงการวิจัยไปนำเสนอในบูธสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

         ส่วนแรก จัดแสดงบูธสาธิตในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทีมวิจัยนำเสนอในเรื่องของ “แคน” เครื่องดนตรีพื้นเมืองอันทรงพลังที่เป็นจิตวิญญาณของชาวอีสาน ซึ่ง “แคน” คือเครื่องดนตรีหลักที่ใช้เป่าคู่กับ “หมอลำ” มาหลายชั่วอายุคน โดยในบูธสาธิต “คนทำแคน ขอนแก่นแดนหมอลำ” ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ศรายุทธ โคตรทุม หรือ หมอแคนบาส ศิลปินหมอแคนและช่างทำแคนคนรุ่นใหม่จากจังหวัดขอนแก่น ที่เป็นทั้งศิลปินและผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภายใต้คลัสเตอร์ของหมอลำที่เราได้ค้นพบ และได้บรรจุไว้ในแผนที่ทางวัฒนธรรม (Cultural Map: https://culturalmapthailand.info/Map)

หมอแคนบาส กล่าวว่า ตนชื่นชอบในการเป่าแคนและได้เรียนการเป่าแคนมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก จนเกิดการสั่งสมประสบการณ์จากการเรียนรู้ในแต่ละระดับและได้ฝึกปฏิบัติจริงกับครูบาอาจารย์หมอแคนหลายท่าน ผลิตภัณฑ์แคนที่ผลิตขึ้นได้ส่งต่อเป็นสินค้าไปยังกลุ่มศิลปินหมอลำและการแสดงพื้นบ้านอีสานทั้งภายในและต่างประเทศ และปัจจุบันเป็นที่ต้องการจากตลาดเป็นอย่างมาก ซึ่งหมอลำแคนบาส ได้ยึดเอาเป็นอาชีพหลักนอกเหนือจากการเป็นหมอแคนที่ทำควบคู่กันไป หมอแคนบาส ได้กล่าวฝากไว้อีกว่า “การจะเป็นหมอลำมืออาชีพต้องไม่ขาดแคน” ผู้สนใจสั่งผลิตแคนและว่าจ้างหมอแคนติดต่อได้ที่ อาจารย์ศรายุทธ โคตรทุม โทรศัพท์ 097-3199817

         ส่วนที่สอง จัดแสดงบูธสาธิตในวันที่ 11 มีนาคม 2566 นำเสนองานฝีมือช่างท้องถิ่นจัดทำ “ชุดเพชรขอนแก่นแดนหมอลำ” ผลิตผลที่โครงการวิจัยได้ค้นหาผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อออกแบบแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map) ที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยผู้ประกอบการ คุณสงกา โทเวียง หรือ คุณกั้ง เจ้าของร้านขอนแก่นแฟนซีดีไซน์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น บริการออกแบบและรับตัดชุดเพชรพระเอก-นางเอกหมอลำ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ คุณสงกา กล่าวว่า เขาผันตัวเองจากการเป็นพระเอกหมอลำคณะที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น มาเป็นช่างฝีมือตัดชุดเพชรหมอลำ ซึ่งทักษะต่าง ๆ เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ การสังเกต และการจินตนาการล้วน ๆ โดยไม่ได้ไปเรียนที่ใดมาก่อน ปัจจุบันมีความต้องการของตลาดศิลปินหมอลำเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นไม่สามารถผลิตทันออเดอร์ได้ งานตัดและขึ้นโครงชุดทั่วไปเริ่มต้นที่ราคา 3,000 บาท หากต้องการปักด้วยคริสตัลเริ่มต้นจากราคาต่อชุด 30,000 บาท 80,000 บาท และ 100,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกรดคุณภาพของคริสตัล ผู้สนใจสั่งออกแบบ สั่งตัด และงานปัก ได้ที่ คุณสงกา โทเวียง โทรศัพท์ 098-2646997

         ส่วนที่สาม เป็นการแสดงหมอลำในวันที่ 12 มีนาคม 2566 การแสดงหมอลำที่นำมาเสนอในงานนี้เกิดจากผลผลิตของการทำงานร่วมกันระหว่างคณะผู้วิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับผู้ประกอบการและศิลปินนักแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน ทำนองขอนแก่น คณะอีสานนครศิลป์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายคณะหมอลำหลายคณะที่เป็นพื้นที่ศึกษาของโครงการวิจัย ศิลปินหมอลำที่ร่วมแสดงส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนคืนถิ่นที่ทางโครงการวิจัยได้ร่วมในการพัฒนาทักษะเพื่อยกระดับสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพ เช่น การคัดเลือกศิลปินหมอลำนิวเจนเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะในหมอลำอะคาเดมี การอบรมเชิงปฏิบัติการลำให้ถึงแก่นร่วมกับศิลปินรุ่นครู การให้ความรู้ด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อนำเสนอผลงานหมอลำ การถ่ายทอดนวัตกรรมการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมบนเวทีหมอลำ ชุด “บุญ” รวมถึงการพัฒนานวัตกรที่ใช้ทุนประสบการณ์เดิมต่อยอดการแสดงให้เกิดความสร้างสรรค์ลงตัวตอบโจทย์กับตลาดผู้ชม สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพได้เป็นอย่างดี ซึ่งกิจกรรมการแสดงหมอลำได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

         จะเห็นได้ว่า การขับเคลื่อนโครงการวิจัยของทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่เพียงแต่จะค้นหาคำตอบเพื่อนำไปสู่การช่วยแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาแล้ว ยังมุ่งเน้นในการทำงานร่วมกันกับศิลปินทั้งรุ่นเก่า ศิลปินรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนางานใหม่ ๆ ทั้งในเชิงการทดลองและการต่อยอดจากฐานประสบการณ์เดิม ภายใต้กรอบคิดที่ไม่ลืมของเก่าขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ที่ยังคงรากเหง้าและกลิ่นอายทุนทางวัฒนธรรมเดิมไว้ ที่สำคัญคือต้องสามารถต่อยอดและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนบุคคลและในชุมชนได้ เหนือสิ่งอื่นใดงานวิจัยนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้คณาจารย์จากหลากหลายสาขาวิชาได้มาทำงานร่วมกัน ดึงเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละคนออกมาอำนวยประโยชน์แก่งานวิจัยและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่นักวิจัยทั้งภายในมหาวิทยาลัยและกับต่างมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนดำเนินโครงการจาก บพท. และเป้าหมายสูงสุดของโครงการวิจัยนี้คือการนำเอาผลการวิจัยไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงให้เกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจและเชิงคุณค่าต่อชุมชนและสังคมในระดับพื้นที่ โดยเมื่อทีมวิจัยได้ถอยตัวออกมาแล้วศิลปินและผู้ประกอบการก็ยังสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

Scroll to Top