วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักบริการวิชาการ จัดการสัมมนาการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรเพื่อขอรับการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรตามมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานสมรรถนะของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และการใช้งานระบบแนะแนวอาชีพ (Career Guidance) สร้างโอกาสการมีงานทำผ่านระบบ E-Workforce Ecosystem ณ ห้องประชุมดุสิตา ชั้น 5 อาคารพิมล กลกิจ
รศ.น.สพ.ชูชาติ กมลเลิศ ได้กล่าวว่า จากประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนวกกับการประชุม Dean Forum ในปีที่มา สำนักบริการวิชาการได้รับภารกิจในการเป็นหน้าบ้านในด้านของ การจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเพื่อให้การขับเคลื่อนกลยุทธ์ในด้านการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำนักบริการวิชาการ เล็งเห็นถึง ความสำคัญด้านจัดทำหลักสูตรที่ยึดตามความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็น สถาบันที่นุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่มีคุณภาพ เป็นศูนย์กลางข้อมูลระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพที่เชื่อถือได้ ให้การรับรองความรู้ เป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สำนักบริการวิชาการเชื่อมั่นว่า คณะและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมในครั้งนี้ จะได้ทราบถึงหลักการ แนวคิด วิธีการดำเนินงาน สามารถนำไปปรับใช้ในด้านการจัดทำหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว หรือ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานสมรรถนะของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ตรงกับต้องการของผู้เรียน และ ความต้องการของตลาด เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการจัดการศึกษาตลอดชีวิตให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยในช่วงเช้าเป็นการแนะนำสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และการใช้ “ระบบ E-Workforce Ecosystem ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยในการสร้างโปรไฟล์ เพื่อรองรับการเพิ่มทักษะ การมีงานทำ การศึกษาต่อ และยังเป็นกลไกในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) อย่างเป็นรูปธรรม โดย นางสาวธนพร คำขจร นักวิชาการมาตรฐานวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) รวมถึงมีการนำเสนอเรื่อง “การเชื่อมโยงสมรรถนะการทำงานและการศึกษา ด้วยระบบสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้ (Digital Competency Credit Bank)” โดย นางบุษกร เสนีย์โยธิน นักวิชาการมาตรฐานวิชาชีพสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หลังจากนั้นเป็นการสร้างความเข้าใจในด้าน “มาตรฐานอาชีพกับการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนา การเรียนรู้บนฐานสมรรถนะสำหรับสถาบันการศึกษา” โดย นางสาวพรภัทรา ฉิมพลอย รักษาการผู้อำนวยการ สำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรม Workshop การจัดทำและพัฒนาหลักสูตรเพื่อขอรับการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรตามมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานสมรรถนะของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
ในช่วงท้าย รศ.ดร. เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ได้กล่าวถึงความสำคัญในการจัดการอบรมในครั้งนี้คือเรื่องของมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ที่จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงวิชาที่คณะวิชาต่าง ๆ ที่สอน เพื่อให้เกิดมูลค่า (Value) และต่อยอดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong learning) สามารถเก็บเป็น Credit Bank และได้ใบ Certificate มาตรฐานวิชาชีพ และเรื่องของ ระบบ E-Workforce Ecosystem เป็นการสอนให้ผู้เรียน โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 บันทึกลงใน Portfolio Electronic ซึ่ง Portfolio นี้จะเชื่อมโยงข้อมูลไปยังบริษัทจัดหางาน 52 บริษัท อีกด้วย