สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมการศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาล หลักสูตร “การพัฒนาการบันทึกทางการพยาบาล : Focus Charting” รุ่นที่ 16 ระหว่างวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ประธานในพิธีเปิดการอบรม กล่าวว่า ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักบริการวิชาการมีภารกิจด้านการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Education) ด้วยการ Reskill/Upskill/New skill ให้แก่ผู้เรียนทุกช่วงวัย โดยทางสำนักฯ มีการดำเนินการในรูปแบบของการจัดทำหลักสูตร Professional Training หรือ Short Course Training จำนวนกว่า 20 หลักสูตรซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความรู้ความสามารถ ตลอดจนทักษะและเจตคติทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ทันต่อสถานการณ์และองค์ความรู้ใหม่อยู่เสมอ และยังคงไว้ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ดร.ยุวดี เกตสัมพันธ์ วิทยากรประจำหลักสูตร กล่าวถึงความสำคัญในการบันทึกทางการพยาบาลการโดย Focus Charting ในการบันทึกข้อมูลจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ช่วยด้านการสื่อสารข้อมูลสำคัญ เพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง ลดข้อผิดพลาด เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการพยาบาลดูแลผู้ป่วยจริง สามารถใช้ประกอบการสอนหรือวิจัย และที่สำคัญคือเป็นหลักฐานทางกฎหมาย เมื่อมีกรณีฟ้องร้อง โดยการบันทึกทางการพยาบาลที่มีคุณภาพ ต้องคำนึงข้อมูลดังนี้ 1.ข้อมูลเป็นจริง 2.ข้อมูลน่าเชื่อถือ มีความแม่นยำ 3.ข้อมูลครบถ้วนชัดเจน 4.ข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทันเวลา เป็นไปตามวันและเวลาที่กำหนด 5.เป็นระเบียบ มีเหตุมีผล 6.การปฏิบัติพยาบาลที่ใช้กระบวนการพยาบาลและบันทึกตามกระบวนการพยาบาล และนอกเหนือจากการบรรยายให้ความรู้ เรายังมีกิจกรรม (Workshop) เรื่องการประเมินการใช้ประโยชน์บันทึกทางการพยาบาล และ การบันทึกทางการพยาบาลมุมมองด้านวิชาชีพและกฎหมาย ให้ผู้เข้ารับการอบรมอีกด้วย
การจัดอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ยุวดี เกตสัมพันธ์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญอิสระ ผู้นำ Focus Charting มาใช้ในประเทศไทย เป็นวิทยากรประจำหลักสูตร และ พว.น้ำผึ้ง ประสิทธิ์ พยาบาลชำนาญการ โรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้ช่วยวิทยากร
ภาพและข่าวโดย ศูนย์จัดการศึกษาตลอดชีวิต
#ศูนย์จัดการศึกษาตลอดชีวิต #สำนักบริการวิชาการ