คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิตด้านการเกษตร เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันงดงามของไทย พร้อมเป็นการบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีของเด็กให้ได้รู้จักการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง ให้กับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 และ 2 ของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งภาคปกติและนานาชาติ ด้วยการลงแขกเกี่ยวข้าว ในโครงการ “Agro Tour ลงแขกเกี่ยวข้าว @KKU2022” ณ แปลงเกษตรสาธิต (ป่าสักสายรหัส) คณะเกษตรศาตร์
เมื่อวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงาน Agro Tour ลงแขกเกี่ยวข้าว @KKU2022 ขึ้น ณ แปลงเกษตรสาธิต (ถนนต้นสักสายรหัส) คณะเกษตรศาตร์ โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม โดยมีผู้บริหารคณะเกษตรศาสตร์ คณะครูและนักเรียนชั้นอนุบาล 1 และ 2 ภาคปกติ และ นานาชาติ ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 350 คน (วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นักเรียนชั้นอนุบาล 1 อีก ประมาณ 350 คน) นำโดย ศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมนักศึกษาปริญญาตรี โท เอก สาขาพืชไร่ การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีการแบ่งการจัดงานเป็นโซนกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ มากมาย เช่นการเรียนรู้วิธีการเกี่ยวข้าว การนวดข้าว กระบวนการสีข้าว การปิ้งข้าวจี่ การทำข้าวพอง การประดิษฐ์มาลัยต้นข้าว และการทำศิลปะจากใบไม้
รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวในการเปิดกิจกรรมครั้งนี้ว่า เด็กนักเรียนสาธิตได้ลงแปลงปลูกข้าวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา วันนี้เดือนพฤศจิกายนนับว่าเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว เป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้เห็นวิถีชีวิตกระดูกสันหลังของชาติ สะท้อนให้เห็นกระบวนการผลิตข้าวและเห็นคุณค่าของข้าวทุกเม็ด โดยมีพี่นักศึกษาสาขาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เด็ก ๆ นักเรียนโรงเรียนสาธิตอย่างสนุกสนานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมเกี่ยวข้าว กิจกรรมจี่ข้าว กิจกรรมคัดเลือดเมล็ดพันธุ์ กิจกรรมวาดภาพ กิจกรรมติดสติ๊กเกอร์ เป็นต้น
“เด็ก ๆ จะได้เห็นว่า ประเพณีไทยวัฒนธรรมไทยผูกพันกับข้าว ข้าวคือชีวิตของพวกเราประเทศไทย เราส่งออกข้าวเป็นลำดับหนึ่งของโลกมาเป็นเวลานาน เป็นเป็นลมหายใจที่เรามีกินมีใช้ทุกวันนี้ การเรียนรู้ที่ดีที่สุดนั่นก็คือเรียนรู้ในพื้นที่จริงแหล่งปลูกข้าวธรรมชาติ ขอบคุณพี่ ๆ นักศึกษาสาขาพืชไร่ที่ช่วยดูแลและจัดเตรียมงานตั้งแต่ Agro Tour เมื่อจบไปแล้วก็สามารถนำประสบการณ์ครั้งนี้ไปทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเกษตรเชิงท่องเที่ยวผสมผสานกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกทางหนึ่ง”
คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า จุดเด่นคือ นักศึกษาสาขาวิชาพืชไร่ ชั้นปีที่ 1และชั้นปีที่ 3 เป็นผู้ดูแลแปลงนาสาธิตและจัดโซนกิจกรรม เนื่องจากเป็นทักษะที่ต้องการให้นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์มีความสามารถจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเชิงการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน สนับสนุนปลูกฝังให้เยาวชนของชาติซึมซับความดีงามที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งยังเป็นรากเหง้าที่สามารถพัฒนาไปเป็นการท่องเที่ยงเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะทำให้วิถีวัฒนธรรมยั่งยืนต่อไป
ด้าน ศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึง การนำนักเรียนโรงเรียนสาธิตมาเรียนรู้ในพื้นที่แปลงเกษตรจริง ของคณะเกษตรศาสตร์ครั้งนี้ สอดคล้องกับทฤษฎีการศึกษา คือการออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับชั้นเรียน โดยนำเด็กนักเรียนไปเรียนรู้ จากประสบการณ์จริง วันนี้เป็นกลุ่มนักเรียนชั้นอนุบาล 2 ภาคปกติ และ นานาชาติ จำนวน 350 คน ส่วนวันพรุ่งนี้ (พุธที่ 23 พ.ย.65) เป็นนักเรียนกลุ่มชั้นอนุบาล 1 ทั้งภาคปกติ และ นานาชาติ คราดหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะสามารถการบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีของเด็กให้ได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมการเกษตรและสามารถบูรณาการได้กับชีวิตจริงในอนาคต
“การเรียนรู้วิถีเกษตรพร้อมสืบสานวัฒนธรรมอันงดงามด้วยการลงแขกเกี่ยวข้าว ครั้งนี้ว่า เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิถีการเกษตรรวมไปถึงวัฒนธรรมการเกี่ยวข้าว และการนำเด็ก ๆ มาทำกิจกรรมเราเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้วคือการดำนาปลูกข้าว เด็กได้เรียนรู้ว่าหลังจากฤดูดำนาแล้ว พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวออกรวงแล้ว เขาก็จะมาและมีประสบการณ์ตรงในการเกี่ยวข้าว บูรณาการเข้าไปในชีวิตของเด็ก ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตและคณะเกษตรศาสตร์ครั้งนี้จึงถือเป็นการบูรณาการศาสตร์องค์ความรู้ได้อย่างลงตัว” คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
ส่วน รศ.ดร.คุณเดช สุริหาร หน.สาขาวิชาพืขไร่ คณะเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงการดำเนินการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า ตามนโยบายของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งเน้นพัฒนาในหลากมิติ และบูรณาการศาสตร์หลายด้านเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องของระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย สนับสนุนหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเกษตรเชื่อมโยงกับการตลาดเรื่องธุรกิจการเกษตร บูรณาการกับหลายภาคส่วนเกิดเป็นกิจกรรม Agro Tour ธุรกิจเชิงท่องเที่ยวเพื่อให้นักศึกษามีมุมมอง มีภาพของการจัดการตั้งแต่การผลิตจนไปถึงการตลาด ในสาขาพืชไร่มากมาย อาทิ กรรมการดำนาปลูกข้าว Agro Tour เกี่ยวข้าว แปลงกังหัน และกิจกรรมปลูกเมลอน ทั้งหมดนี้กว่า 3 – 4 โครงการ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จริง ประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ได้จริง และสร้างระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยให้มีความสวยงามมีชีวิตชีวามากขึ้น
สุดท้าย นายพิศุทธิภูมิ ให้ศิริกุล นักศึกษาระดับปริญญาโท ผู้ช่วยนักวิจัย รับผิดชอบ กิจกรรม Agro tour ในส่วน กิจกรรมเกี่ยวข้าวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ได้กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในโครงการนี้ว่า นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ได้เรียนรู้กระบวนการเกษตรเชิงท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ ทราบข้อเท็จจริงว่าเกษตรนอกจากทำเพื่อการค้าขายหรือบริโภคแล้ว ยังสามารถทำเพื่อการท่องเที่ยวได้ด้วย เพื่อออกแบบจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กนักเรียนอนุบาล เรียนรู้วิธีการขั้นตอนการตกกล้า ดำนา การปลูก การเก็บเกี่ยวข้าว นวดข้าว การฟาดข้าวโดยวิธีโบราณ ประเพณีสู่ขวัญข้าวที่เป็นวัฒนธรรมอีสาน ความผูกพันกับกับวิถีชีวิต ขณะที่นักศึกษาก็ได้เรียนรู้ทักษะกระบวนการจัดการเกษตรเชิงท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจในระบบได้ดียิ่งขึ้น”
“กิจกรรมนี้ทำให้น้องนักเรียนได้เห็นว่ามันไม่ใช่ง่าย ๆ ที่กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเมล็ด มันมีความยาก ความลำบากอย่างไร นอกจากจะตื่นเต้น สนุกสนานแล้ว ยังได้สัมผัสถึงรสชาติของความเหนื่อย ความร้อนซึมซับกับเรื่องละเอียดอ่อนมากขึ้น รวมถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะ มันคือการปลูกฝังภาพจำที่ดีให้กับเขาและอนาคต สุดท้ายคือน้องนักศึกษาเอง ได้ทักษะการบริหารจัดการโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กอนุบาล ต้องปรับวิธีการให้ง่ายสำหรับเด็กที่สุด เช่นการเกี่ยวข้าวเขาสอนเขาทำแบบผู้ใหญ่เลยไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนให้มันมีความปลอดภัยมากขึ้น และย่อขนาดต่าง ๆ ให้เล็กลง ทั้งหมดนั้นคือกระบวนการที่น้อง ๆ นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน”
สำหรับการจัดงาน Agro Tour ลงแขกเกี่ยวข้าว @KKU2022 เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจาก Agro Tour ดำนาปลูกข้าว 2022 จัดขึ้น 2 วัน คือวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2565 ณ แปลงเกษตรสาธิต (ถนนต้นสักสายรหัส) คณะเกษตรศาตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ต้องการให้น้อง ๆ นักเรียนชั้นอนุบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้าวไทย และสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม และเพื่อให้นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ทั้งระดับปริญาตรี โท และเอก ได้มีมุมมองของการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรเชิงท่องเที่ยวและการทำงานเป็นทีม นอกจากนี้ นักศึกษาจะได้พัฒนาจิตใจของการเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจากผู้รับ และสุขใจทุกครั้งที่ให้ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว กิจกรรมเสริมลักษณะนี้ น่าจะมีส่วนสำคัญในการขัดเกลาให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี พัฒนาและขับเคลื่อนประเทศได้เป็นอย่างดีในอนาคตอันใกล้ ส่วนข้าวที่ใช้ปลูกในแปลงสาธิตในเนื้อที่ 3 ไร่นั้น คือข้าวพันธุ์ มข 60-1 ที่พัฒนาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ และนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งพันธุ์ มข 60-1 มีลักษณะเด่น คือ เป็นข้าวเหนียว อายุเก็บเกี่ยวสั้น ไม่ไวแสง ต้านทานต่อโรคไหม้ และขอบใบแห้ง มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 และกำลังจะทูลเกล้าถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวันพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์ / คณะเกษตรศาสตร์
KKU Agriculture instills KG kids in rice harvesting culture, and promotes sustainable ecological tourism