มข.ประกาศ 2 รางวัลทรงคุณค่า ! ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2565

จากนโยบายการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และ มีผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่น ตลอดทั้งยกย่องบุคคลหรือนิติบุคคลและองค์กร ที่กระทำความดีความชอบ อันเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย และ สังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประจำทุกปี เพื่อรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีการพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลกาลพฤกษ์ทองคำ และ รางวัลศรีมอดินแดง ขึ้น โดยในปี 2565 นี้ มีผู้ได้รับรางวัล ดังต่อไปนี้

1.รางวัลกาลพฤกษ์ทองคำ ประจำปี 2565

ประเภทบุคคล ได้แก่ นายอำนาจ พรหมสูตร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารหน่วยธุรกิจสิ่งแวดล้อม บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2517 นอกจากนี้ นายอำนาจ พรหมสูตร ได้บำเพ็ญตนเพื่อทำคุณประโยชน์ในกิจการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 สมัย และ ขณะดำรงตำแหน่งได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายด้าน โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ จัดกิจกรรมการระดมทุนเพื่อสนับสนุนนักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ กอล์ฟการกุศล โครงการระดมทุนผ้าป่าการศึกษา พี่ช่วยน้องกองละ 1,000 บาท และ โครงการรวมพลคนใจบุญ สมทบทุนการศึกษา มข. ซึ่งสามารถระดมทุนศึกษาได้กว่า 30 ล้านบาทเข้ากองทุนมอดินแดง อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิกลุ่มทีมรวมใจ วัตถุประสงค์ คือ การส่งเสริมทุนการศึกษาแก่เยาวชน และ ผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนทุนอาหารกลางวัน และ ด้านห้องสมุดและการกีฬา ซึ่งปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนมากกว่า 15 โรงเรียน

จากการที่ นายอำนาจ พรหมสูตร ได้ทุ่มเท เสียสละ กำลังกาย และเวลา อุทิศตนในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร หน่วยงาน สังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสังคมโดยส่วนรวมของประเทศ จึงเป็นผู้สมควรได้รับรางวัลกาลพฤกษ์ทองคำ ประจำปี 2565 ประเภทบุคคล เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

2.รางวัลศรีมอดินแดง ประจำปี 2565

บุคลากรประเภทวิชาการ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. วรานุช ปิติพัฒน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าปฏิบัติงานครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ที่ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2532 ตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน รศ.ดร.วรานุช เป็นผู้ประพฤติตนตามครรลองคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณการทำงาน มีมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นที่รักของผู้ใต้บังคับบัญชาและลูกศิษย์ รวมถึงผู้บริหารในทุกระดับ มีความใฝ่รู้ และ ตั้งใจในการพัฒนาด้านทันตสาธารณสุขแบบบูรณาการและยั่งยืน จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกสมาคมทันตกรรมป้องกันแห่งเอเชีย (President of Asian Academy of Preventive Dentistry, พ.ศ. 2559-2561) และเลขาธิการกิตติมศักดิ์ของ Southeast Asia Association for Dental Education (พ.ศ. 2563-2565) ได้รับทุนจัดการฝึกอบรมด้านการวิจัยจาก National Institutes of Health (NIH) ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีความก้าวหน้า และ ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด ทำให้คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านการประเมินคุณภาพองค์กรสู่ความเป็นเลิศตามเกณฑ์ EdPEX200 ในปี พ.ศ.2560 และ EdPEX300 ในปี พ.ศ. 2563 มาอย่างต่อเนื่อง และยังมีการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพขององค์กรให้บังเกิดผลอย่างเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศ จนทำให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2564 ประเภท “รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านบุคลากร (Thailand Quality Class Plus : People) ประจำปี 2564” ถือเป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นับเป็นการนำองค์กรที่ประสบความสำเร็จและถือเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจในการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย

ด้วยวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางในการบริหารองค์กร อันนำมาซึ่งผลงานและภาพลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลศรีมอดินแดง ประเภทบุคลากรวิชาการ ประจำปีพุทธศักราช 2565 เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

บุคลากรประเภทสนับสนุน ได้แก่ นายสงัด ปัญญาพฤกษ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองบริหารงานคณะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและโท สาขาวิชาปฐพีศาสตร์ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาเอก สาขาวิชาเอก เทคโนโลยีการเกษตร จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เริ่มเข้าปฏิบัติงานครั้งแรกในตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์ 3 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2530 ตลอดระยะเวลาในการทำงาน นายสงัด ปัญญาพฤกษ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และ มีประสบการณ์ในการบริหารงาน การประสานงาน มีบทบาทสำคัญในการประสานงานการดำเนินกิจกรรมของคณะ และ มหาวิทยาลัยในหลายๆโครงการ อาทิ งานประชุมสภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย งานวันเกษตรภาคอีสาน งานวันเกษตรแห่งชาติ สามารถสร้างความร่วมมือที่ดี กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และ เอกชนมาเป็นเวลายาวนาน ส่งผลให้มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ได้รับการยอมรับทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

โดยแต่ละปีได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน ผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่นสร้างคุณาปการและชื่อเสียง ภาพลักษณ์ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ มีผลงานสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลศรีมอดินแดง ประเภทบุคลากรสายสนับสนุน ประจำปีพุทธศักราช 2565 เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบต่อไป

Scroll to Top