U2T for BCG คณะเกษตรศาสตร์ มข. จัดอบรม “การพัฒนาผ้าขาวม้ากลิ่นหอมบ้านโนนชัย” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเเละสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรม “การพัฒนาผ้าขาวม้ากลิ่นหอมบ้านโนนชัย” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเเละสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ณ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าด้วยกี่กระตุก บ้านโนนชัย ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งทางโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในการนำสินค้าและบริการในชุมชนมาพัฒนาและต่อยอดโดยการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนอย่างยั่งยืน

ที่มาของการจัดอบรมครั้งนี้ สืบเนื่องจากตำบลโนนหัน หมู่บ้านโนนชัยมีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าด้วยกี่กระตุกอยู่แล้ว มีการทอผ้าด้วยกี่กระตุกซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีเพียงผ้าขาวม้าที่จำหน่ายเป็นผืน ไม่มีการนำผ้าผืนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จึงได้มีการจัดเวทีหารือระหว่างสมาชิกกลุ่มและทีมงาน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาร่วมกัน ซึ่ง เมื่อพิจารณาถึงยอดขายที่ผ่านมา ตลาดยังต้องการผ้าขาวม้าผืนจากกลุ่มอยู่ จึงมุ่งไปที่การสร้างความแปลกใหม่ให้กับผ้าผืน สร้างจุดเด่นที่แตกต่างจากตลาดทั่วไป ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปในการสร้างสรรค์ผ้าขาวม้าผืนที่มีกลิ่นหอม ซึ่งจะสามารถต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ด้วย ถือเป็นการที่จะยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการผลิตผ้าขาวม้าให้มีกลิ่นหอม และยกระดับกระบวนการผลิตผ้าขาวม้าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์  ซึ่งจะเป็นการสร้างจุดเด่นให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าด้วยกี่กระตุก และนำไปสู่โอกาสทางการตลาดที่กว้างขึ้น

โดยมี ผศ.ฝากจิต ปาลินทร อาจารย์จากสาขาวิชาการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการในพื้นที่ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัด และได้รับเกียรติจาก อาจารย์ธนิกา หุตะกมล สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นวิทยากร ในการอบรมครั้งนี้ ซึ่งทางโครงการคาดหวังว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าด้วยกี่กระตุก ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น นำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับการย้อมผ้าขาวม้าให้มีกลิ่นหอมและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง และดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้แก่ของผ้าขาวม้าของกลุ่มได้ต่อไป

 

หลังจากนั้น วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ได้มีการจัดการประชุมกลุ่มสมาชิก เพื่อหาแนวทางในการนำผ้าข้าวม้าหอมมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยในการออกแบบได้ให้สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิด และทดลองจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผ้าขาวม้าหอมแบบผืน กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นมะลิ กลิ่นกุหลาบ และกลิ่นยูคาลิปตัส  กระเป๋าผ้าขาวม้าหอม ยางรัดผม รวมไปถึงเครื่องประดับผมอื่นๆ ทำให้ได้เห็นปัญหา อุปสรรคในการการทำชิ้นงาน และหาทางแก้ร่วมกัน

 

รายงานโดย คณะทำงาน U2T ต.โนนหัน

Scroll to Top