มข.จับมือ โลตัส ร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

________เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ  รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ร่วมลงนามกับ นายบุญชัย  ชีพอารนัย ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก ภาคเหนือ  บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด  ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อยอดโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันของโลตัส เพื่อลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 (Zero food waste to landfill by 2030) ผู้ลงนามเป็นพยาน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ และ คุณเมธินี  แซ่อึ่ง  ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ โลตัส   โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาวุธ  ยิ้มแต้  รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม  รองศาสตราจารย์ ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์  คณบดีคณะเทคโนโลยี  ศาสตราจารย์ ดร. ยุพา หาญบุญทรง สาขาวิชากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา ดร.ชุตินันท์  ชูสาย อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ คณาจารย์ และผู้บริหาร บุคลากรบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ  รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

________ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ   กล่าวว่า “การดำเนินงานด้านแมลงโปรตีนของมหาวิทยาลัย ดำเนินการโดย ศาสตราจารย์ยุพา หาญบุญทรง และคณะ นักวิจัยสังกัดคณะเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแมลงสำหรับผลิตโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชนเป็นอาชีพและพึ่งพาตนเอง ลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ สร้างผู้ประกอบการให้เกิดธุรกิจใหม่ภายใต้ “BCG Economy Model” และพัฒนาให้เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมอาหารสัตว์  ปัจจุบันมีโรงเรือนต้นแบบการวิจัยและการผลิตแมลงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร  โดยเกิดจากการร่วมทุนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและบริษัทเอกชนด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการผลิตสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นต้นแบบของการผลิตแมลงโปรตีนเพียงแห่งเดียวในขณะนี้  ที่สามารถผลิตแมลงโปรตีนที่มีปริมาณและคุณภาพสูง  อีกทั้งยังมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรหรือผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน ผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่และปลาที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง กว่า 300 ราย สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (startup) จำนวน 3 ราย และพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบสำหรับไก่และปลา จำนวนกว่า 25 สูตร รวมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ สิ่งแวดล้อม และประหยัดค่าใช้จ่าย  ในการกำจัดขยะของชุมชน เนื่องจากระยะหนอนของแมลงโปรตีน  สามารถกินอินทรียวัตถุได้หลากหลาย จากเศษเหลือทิ้งที่เป็นขยะอินทรีย์จากครัวเรือน จากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม”

________“บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด จะร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรที่ให้ความความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างยั่งยืน (Environmental, Social and Governance; ESG) ผ่านการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนจากอาหารส่วนเกินของโลตัส ภายใต้โครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน (Zero Food Waste) โดยใช้ประโยชน์จากอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย ในร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารปรุงสำเร็จ ส่งต่อให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีน อันเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน”

                            นายบุญชัย ชีพอารนัย ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก ภาคเหนือ                                     บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด

________นายบุญชัย  ชีพอารนัย  กล่าวว่า “ในฐานะธุรกิจค้าปลีกแบบ omni-channel ที่มุ่งเน้นการจำหน่ายอาหารคุณภาพสูง โลตัส ตระหนักถึงบทบาทของเราในการช่วยลดขยะอาหาร โดยเริ่มจากภายในธุรกิจของเราเอง ภายใต้เป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เรามุ่งหน้าลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 โลตัส ได้เริ่มบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากสาขาของเราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ภายใต้โครงการ กินได้ไม่ทิ้งกัน โดยเริ่มนำร่องจากโลตัสสาขาใหญ่ในกรุงเทพและปริมณฑล โดยร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ในการนำอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ ส่งมอบให้ผู้ที่ยากไร้ แทนการทิ้งให้กลายเป็นขยะอาหารซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

________“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โลตัส เดินหน้าขยายโครงการไปสู่พื้นที่อื่น ๆ รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรในการหาทางออกในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้ว อาทิ โครงการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับสวนสัตว์ โครงการทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหาร รวมถึงการร่วมมือในครั้งนี้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการนำอาหารส่วนเกิน อาทิ ผัก ผลไม้ และอาหารสดประเภทอื่น ๆ จากโลตัส 30 สาขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริจาคให้กับเกษตรกรในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำไปใช้เป็นอาหารในการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly – BSF) ซึ่งเป็นแมลงที่ปลอดภัยต่อพืชและชุมชน ไม่เป็นพาหะนำโรค และตัวหนอนยังมีคุณค่าทางอาหารสูงทั้งโปรตีน โอเมก้า วิตามินและแร่ธาตุ นำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ตลอดวัฏจักรหนอน-ดักแด้-แมลง สามารถเสริมทดแทนอาหารสัตว์สำเร็จรูป และมูลหนอนยังนำไปเป็นปุ๋ยชีวภาพได้”

________“ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โลตัส ได้บริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อนำไปเลี้ยงแมลงโปรตีนแล้วกว่า 10,000 กิโลกรัม คิดอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักเนื้อหนอน (อัตราแลกเนื้อ) เท่ากับกว่า 3,400 กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรสามารถนำหนอนเหล่านี้เสริมในอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ไปได้กว่า 50% นอกจากนี้ยังได้ปุ๋ยจากมูลหนอนอีกกว่า 2,200 กิโลกรัม และซากแมลงโปรตีน ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วยเช่นกัน ความตั้งใจของเราคือการขยายผลโครงการแมลงโปรตีนไปสู่กลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ เพื่อนำแมลงโปรตีนและผลพลอยได้ไปใช้ในการเกษตร รวมถึงศึกษาแนวทางต่อยอดการใช้ประโยชน์จากแมลงโปรตีนทางการเกษตรเพิ่มเติมต่อไป”  นายบุญชัย  ชีพอารนัย  กล่าวในที่สุด

ข่าว/ภาพ   :   วัชรา  น้อยชมภู
ภาพ   :  มัลลิกา ปลั่งกลาง

KKU joins Lotus for deploying innovations of worthwhile resource utilization that follows the circular economy concept

https://www.kku.ac.th/14327

รองศาสตราจารย์ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์
คุณเมธินี แซ่อึ่ง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ โลตัส

 

Scroll to Top