สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระตุ้นการเกิดกระบวนการหนุนเสริมสมรรถนะการฝึกภาคปฏิบัติเสริมประสบการณ์การดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยในบริบทการดูแลที่หลากหลาย รวมทั้งการติดตามประเมินผลการเรียนรู้ และนิเทศงานโดยกำหนดจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาศักยภาพผู้เรียน (KKU Show and Share for Children)“ ระหว่างวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพด้านการดูแลเด็กปฐมวัย รุ่นที่ 1 สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 เวลา 08.30 น. ประธานในพิธีเปิด ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ และได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์บุญญฤทธิ์ สมบัติหลาย กรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษากองบริหารงานสำนักบริการวิชาการ ร่วมพิธีเปิด
ต้อนรับผู้เรียนด้วยการเสริมสร้างเครือข่ายผู้เรียน กิจกรรมกลุ่มปฏิบัติการ “สร้างเครือข่ายผู้ดูแลเด็กปฐมวัย” เป็นกระบวนละลายพฤติกรรม เปิดใจและเริ่มต้นทำความรู้จักเพื่อนร่วมหลักสูตร ด้วยเสียงเพลง และกระบวนการกลุ่ม ที่สร้างความสนุกสนานและได้สาระความรู้ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งผู้เรียนกล่าวว่ากิจกรรมดังกล่าวสามารถนำไปปรับใช้กับเด็ก ๆ ได้ เป็นเพลงง่ายๆ จังหวะไม่ซับซ้อน มีความหมายในการไหว้ทักทายสวัสดีซึ่งเป็นธรรมเนียมอย่างไทย และแนะนำตัวให้รู้จักชื่อ รู้จักวันเกิดและจังหวัดของตนเอง ท่าเต้นก็ทำตามได้ง่ายไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ได้ทำงานร่วมกับผู้เรียน ร่วมหลักสูตรเพื่อกระตุ้นให้เกิดการประสานงาน สื่อสารกัน เพิ่มความสามัคคีในหมู่คณะและ แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกันอย่างมาก
และจากนั้นเป็นกิจกรรม การนำเสนอ Show Case สรุปบทเรียนการฝึกปฏิบัติงาน “เรื่องสนุกจากห้องเด็ก Reflect จากการฝึกงงาน” ผู้เรียนได้นำกรณีศึกษาจากประสบการณ์ฝึกงานการดูแลเด็กปฐมวัยรายบุคคลในรูปแบบ การสะท้อนคิดการเรียนรู้และการพัฒนางานจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยไม่เปิดเผยข้อมูลจริงชื่อ และนามสกุลจริงของเด็กเพื่อไม่เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก กระบวนการและวิธีการแก้ไข ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียน จากข้อมูล การนำเสนอ Show Case สรุปบทเรียนการฝึกปฏิบัติงานทีมวิทยากร ผู้เรียนและทีมงานสำนักบริการวิชาการ ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้สามารถร่วมกันแก้ปัญหาในกรณีศึกษาที่มีปัญหาทางสุขภาพเร่งด่วนได้จำนวน 2 กรณีศึกษา และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหากระบวนการเรียนรู้ และส่งเสริมพัฒนา ตามระยะพัฒนาการเพื่อให้ผู้เรียนนำไปปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 30 กรณีศึกษา
และเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนติดอาวุธ การเฝ้าระวัง สังเกตการณ์ ป้องกันและช่วยเหลือเด็กในกรณี เกิดเหตุฉุกเฉิน โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมภาคปฏิบัติ (Workshop) “อุบัติเหตุและการจัดการช่วยเหลือปฐมพยาบาลและส่งต่อการรักษาในภาวะฉุกเฉินในกรณีที่พบบ่อยในเด็ก” ผู้เรียนได้ร่วมฝึกปฏิบัติการช่วยชีวิต (CPR) การฝึกปฏิบัติการทำแผล และการฝึกปฏิบัติการดาม เหตุฉุกเฉินอาจเกิดได้ทุกเมื่อ ทำให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์เหตุเบื้องต้น ประสานงานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปใช้ช่วยเหลือ ผู้บาดได้อย่างถูกต้อง หรือแม้ยังไม่เกิดเหตุผู้เรียนก็สามารถสังเกตการณ์ หรือเตรียมการกิจกรรมการเรียน หรือสถานที่เรียนรู้ของเด็กเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น
กิจกรรมที่ผู้เรียนให้ความเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถสะท้อนการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ ต่าง ๆ ได้เห็นภาพจริงมาก ได้แก่ กิจกรรมกลุ่มปฏิบัติการ : แสดงบทบาทสมมติ (Role play) จาก Short case Card ซึ่งทีมวิทยากรได้จัดทำ 10 กรณีศึกษา ให้ผู้เรียนได้ฝึกการอยู่ในสถานการณ์จำลอง โดยรับบทบาทของการเป็นเด็ก ผู้ดูแล และผู้ปกครอง และฝึกการคิดแก้ไขปัญหาอย่างแบบฉับพลันหลังจากได้รับโจทย์ภายใน 90 วินาที และร่วมกันสรุป แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนผลการปฏิบัติในหลายแง่มุมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในบริบทที่แตกต่าง และสะท้อนกลับมาถึงภาคทฤษฎีที่ได้เรียนไปว่าได้ตอบโจทย์ การปฏิบัติการแก้ไขปัญหานั้น ผู้เรียนได้นำหลักการใดไปปรับใช้ ตัวอย่างเช่น การเสริมแรงเชิงบวก การสะท้อนความรู้สึก การส่งเสริมคลังคำศัพท์ การสร้างเงื่อนไขพฤติกรรมใหม่ การเข้าใจและไม่เร่งรัด การเบี่ยงเบน ความสนใจ เป็นต้น
ทั้งนี้ เป้าประสงค์หลักสูตรอีกประการหนึ่ง คือการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาสมรรถนะเพื่อเพิ่มโอกาส ในการเข้าสู่ระบบแรงงานคุณภาพและเพิ่มมูลค่าในการทำงานจากสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มสมรรถนะเพื่อให้มีอาชีพทางเลือก โดยทางหลักสูตรได้กำหนด กิจกรรม การเตรียมความพร้อมการสมัครงานใน Work Exchange Supervisor by Engenius International ผู้เรียนได้การศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อมการสมัครงานในโครงการ Au pair ซึ่งเป็นโครงการที่รับสมัครผู้ดูแลเด็กในต่างประเทศไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายได้และ ได้ท่องเที่ยว ผู้เรียนได้เตรียมความพร้อมและสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และผู้เรียนที่คุณสมบัติครบสมัครได้ทันทีจำนวน 8 คน อยู่ระหว่างการพิจารณาของเอกสารและคุณสมบัติอื่น ๆ ซึ่งทาง Au pair by Engenius International มีทุนการศึกษาสนับสนุนพิเศษการสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านหลักสูตรเป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายในการสมัครทันที 50% เมื่อผู้เรียนสำเร็จจากหลักสูตรแล้วสามารถเข้าสู่ระบบแรงงานคุณภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังคนที่มีสมรรถนะตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยอย่างแท้จริง
- ผศ.ดร. จุฬาภรณ์ ตั้งภักดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ดร.ภัคณัฐ วีรขจร หัวหน้าศูนย์ศึกษาการแพทย์ฉุกเฉิน และหัวหน้ากลุ่มงานหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา สถาบันพระบรมราชชนก
- อาจารย์บุญญฤทธิ์ สมบัติหลาย กรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษากองบริหารงานสำนักบริการวิชาการ
- อาจารย์อรัญญา ป้องสิงห์ ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
- อาจารย์นลินทิพย์ อ่องสมบัติ ผู้จัดการฟาร์มบ้านนอก อคาดามี่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
- อาจารย์ศศิประภา อนุพันธ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คุณบรรณฑวรรณ สิมมาโคตร Au pair by Engenius International
ภาพ/ข่าว โดย งานบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ