เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดประชุมวิชาการ เรื่อง “มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ในวันที่ 23 มกราคม 2563 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซนเตอร์ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในการเปิดงานพร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการกับการให้ทุนในอนาคต” และ มี รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวรายงาน การจัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้านต่างๆ ในภูมิภาคให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการของภูมิภาค สร้างความร่วมมือด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการระหว่าง วช. กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายในภูมิภาค
ภายในงาน มีการจัดกิจกรรม Show & Share แนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ร่วมเสวนา โดย ศ.ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.อาทิตย์ เนรมิตตกพงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร. อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดร.อมรรัตน์ แท่งทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผศ.ดร. สุภาพร ชื่นชูจิต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สุพัตรา ปรศุพัฒนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเภสัชเวทและพิษวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การบรรยายเรื่อง “แนวทางการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยเพื่อการยอมรับร่วม (peer evaluation) โดย รศ.ดร. เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล รองผู้อำนวยการ COSHEM มหาวิทยาลัยมหิดล การบรรยายพิเศษเรื่อง “สร้างงานวิจัยด้วยความปลอดภัย ทำได้จริง โดย ศ.ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผลงานภาคโปสเตอร์ รวม 40 โปสเตอร์ มี นักวิจัย คณาจารย์ และ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ สนใจเข้าร่วมมากกว่า 200 คน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้ดำเนินโครงการเครือข่ายวิจัยภูมิภาคด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยร่วมกับเครือข่ายวิจัยทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยเครือข่ายและแม่ข่าย มีการจัดประชุมวิชาการด้านมาตรฐานการวิจัยและมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากมหาวิทยาลัยแม่ข่าย ลูกข่าย และหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ 144 โปสเตอร์และมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้ง 4 ภูมิภาค จำนวนมากกว่า 900 คน วช. ได้มุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมการประชุมวิชาการประจำปีด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัยห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยลูกข่ายรวมถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ประชาสัมพันธ์มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านมาตรฐานการวิจัยของภูมิภาค อย่างต่อเนื่อง
ด้าน รศ.ดร. ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแม่ข่าย โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ดำเนินการประชาสัมพันธ์และผลักดันการวิจัยของประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับโครงการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2555 หรือเรียกว่าโครงการ ESPRel ในปี พ.ศ. 2563 วช. ได้จัดให้มีโครงการ “ตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบการยอมรับร่วม” หรือ เรียกว่า “Peer Evaluation” โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดูแลภาคอีสานตอนล่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นดูแลภาคอีสานตอนบน ร่วมกันขับเคลื่อน ในเรื่องการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการวิจัยของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นก็ต่อเมื่อได้ทำยกระดับของความปลอดภัยห้องปฏิบัติการก่อน ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยลูกข่ายเข้าร่วมโครงการกว่า 27 สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเอกชน วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยสาธารณสุข โรงเรียนมัธยมศึกษา การประชุมวิชาการในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2
เรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ จะส่งผลต่อการรับรองคุณภาพผลงานวิจัยอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันการเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนั้น ต้องมีระบบการลงทะเบียน ระบบประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยเพื่อการยอมรับร่วม หรือ peer evaluation เช่น เรื่องของการใช้สารเคมี ระบบการกำจัดของเสียจากการทดลอง การเก็บสารเคมี การใช้สารเคมี ให้ปลอดภัย รวมถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการ และนักวิจัยด้วย สำหรับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนมัธยมศึกษาใดที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่าย สามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่ สำนักงานมหาวิทยาลัยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค :ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร 043-202835
ข่าว : นางสาวชุตินันท์ พันธ์จรุง
ถ่ายภาพ : นายสรายุทธ ขินหนองจอก นศ.สาขาเวศนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มข.