คณะสาธารณสุขฯ จับมือ สช. และภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการ “HIA สู่การสร้างสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

________เมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2565  นายอนุทิน  ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ. 2565 HIA สู่การสร้างสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และกล่าวปาฐกถาพิเศษผ่านระบบออนไลน์  ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) และภาคีเครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ  เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2565  โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ และ นายแพทย์ประทีป  ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน   โดยจัดขึ้นในรูปแบบลูกผสม (Hybrid) มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 800 คน ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออนไซต์ ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 400 คน และผู้เข้าประชุมในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบการสื่อสารทางไกล อีกประมาณ 400 คน  และถ่ายทอดผ่าน Facebook live สำหรับผู้สนใจทั่วไป

ศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์

________ศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ กล่าวว่า  “ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงนักวิชาการรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ Health Impact Assessment (HIA)ในการพัฒนาระบบสุขภาพ และสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นแกนนำ ในการสร้างความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และเครือข่ายสถาบันวิชาการ HIA Consortium ทั้งในภาคอีสาน และในภาคอื่นๆ ในการร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อน HIA ทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ การจัดการงานวิจัย และสนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถดำเนินการทำ HIA โดยเชื่อมโยงกับการศึกษาในหลักสูตรและการจัดอบรมระยะสั้นต่างๆ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนการนำกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในระดับต่างๆ มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม   ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในเชิงนโยบายที่เกิดจากผลการทำ HIA ในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นบทบาทของนักวิชาการและสถาบันวิชาการ ในการใช้องค์ความรู้สนับสนุนการดำเนินการและการช่วยเหลือชาวบ้าน ชุมชน และรวบรวมผลการศึกษาและความรู้ที่ได้ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย เสนอต่อหน่วยงานองค์กรที่รับผิดชอบในระดับชาติ”

นายแพทย์ประทีป  ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

________นายแพทย์ประทีป  ธนกิจเจริญ กล่าวรายงานว่า  “การประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นเลขานุการของคณะกรรมการฯ ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพทั่วประเทศ หรือ HIA Consortium  ร่วมกันจัดการประชุมระดับชาติขึ้น เพื่อสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ และการพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายและบุคลากรของหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การขับเคลื่อน HIA ของไทยมีการพัฒนาให้กว้างขวางมากขึ้น และเป็นโอกาสในการสนับสนุนการขับเคลื่อนหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564  ให้เกิดพลังผลักดันไปสู่การปฏิบัติผ่านการดำเนินงานของหน่วยงาน องค์กรและภาคีเครือข่ายต่างๆ ต่อไปในอนาคต”

________“การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้นี้ จัดขึ้นภายใต้ประเด็นหลัก “HIA สู่การสร้างสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ จากการปฏิบัติการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทเรียนการดำเนินงานในระดับต่างๆ  โดยมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการในระดับต่างๆ  และพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่าย HIA ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประสานงาน และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต”

นายอนุทิน  ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

________นายอนุทิน  ชาญวีรกุล  กล่าวในพิธีเปิดและกล่าวปาถกฐาพิเศษว่า  “การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรดำเนินการผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม และสร้างสังคมให้มีสุขภาพดีทั้ง 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม ประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ซึ่งในปีนี้ครบรอบ 15 ปี ของพระราชบัญญัติตลอด 15 ปีที่ผ่านมาเกิดนโยบายสาธารณะจากภาคประชาชน เข้ามาผลักดันการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนมุมมองแนวคิดเรื่องสุขภาพ ของสังคมไทย จากการรักษาร่างกายเมื่อเจ็บป่วย ให้เป็นการดูแลให้เกิดสุขภาพดีตลอด ชีวิต ที่นอกจากจะรักษาสุขภาพกายแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต การสร้าง สติปัญญา และการดูแลสภาพสังคมให้เอื้อต่อการปลอดโรค รวมถึงการสร้างมุมมองใหม่ ให้ประชาชนเข้าใจ”

________“ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของสุขภาพในระดับบุคคล ครอบครัว และการอยู่ร่วมกันในชุมชน สนับสนุนแนวคิด Health in All Policies การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชา สังคม ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ แห่งชาติ ที่ต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA โดยสนับสนุนให้ หน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ส่งเสริมให้บุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมในการ ประเมิน HIA Consortium ในทุกภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ประชาชน สามารถเข้าถึงสิทธิด้าน สุขภาพพื้นฐานของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้มีขึ้นใหม่เมื่อปี 2564 เกิดขึ้นได้จริงกับประชาชนคนไทย  ขอให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างพลังเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

ข่าว/ภาพ   :   วัชรา   น้อยชมภู

Faculty of Public Health collaborates with NHCO and the HIA Consortium to hold a conference “HIA Forum: for Social Harmony and Sustainable Development”

https://www.kku.ac.th/14248

Scroll to Top