________เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2565 รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและวิชาการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.พัฒนา ธีรพรชัยสิทธิ์ ผู้บริหารจัดการ โครงการ วมว.-มข. อ.ดร.ไชยพงษ์ เรืองสุวรรณ รองผู้บริหารจ้ดการ วมว.-มข. รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น บุคลากรโรงเรียน ฯ และบุคลากรโครงการ วมว.-มข. เข้าร่วมต้อนรับและให้ข้อมูลคณะกรรมการตรวจเยี่ยม ฯ โครงการ วมว.-มข. จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย นางวัฒนาโสภี สุขสอาด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิเคราะห์นโยบายและแผน สป.อว. ซึ่งได้ลงตรวจเยี่ยมโครงการโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
________โครงการ วมว.-มข. เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมือให้การสนับสนุน จัดหลักสูตรและการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อสนับสนุนการขยายฐานกำลังคนเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักเทคโนโลยีและนวัตกรที่มีศักยภาพ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
________การดำเนินโครงการ วมว.-มข. สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ทั้งแนวคิด ทิศทาง นโยบายรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลกาหนดใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2579) วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 2563-2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก (A World-Leading Research and Development University) ได้เริ่มนำการตั้งค่าเป้าหมายผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ (Objective and Key Result : OKRs) มาใช้เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางขององค์กร และมีกระบวนการถ่ายทอด Key Result ลงสู่หน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยขอนแก่น และการบริหารงานของคณะศึกษาศาสตร์ ตามแผนยุทธศาสตร์ 2563-2566 ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ 1) Academy Transformation 2) Ecology Transformation และ 3) Spiritual Transformation มีความสอดคล้องกับวิธีการตั้งค่าเป้าหมายผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ (Objective and Key Result : OKRs) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้ โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) ยังได้รับมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) สมศ. ประกอบด้วย 3 มาตรฐาน และ 1 มาตรฐานการเป็นโรงเรียนสาธิต โดยมีเครื่องมือกำหนดค่าเป้าหมายผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ (Objective and Key Result : OKRs) เป็นตัวชี้วัดที่สามารถอธิบายหรือสะท้อนการบรรลุวิสัยทัศน์ของโรงเรียน
________ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (โครงการ วมว.) ระยะแรกเป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2551-2555) และระยะ ที่ 2 เป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2556-2565) นั้น ได้สร้างนักเรียนที่มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและวิจัย ซึ่งถือเป็นกำลังหลักของประเทศในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะเห็นได้จากผลงานที่โดดเด่นของนักเรียนในโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม และมีความสามารถทางด้านวิชาการที่โดดเด่น มีผลคะแนนเฉลี่ยของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่สูงกว่าผลเฉลี่ยของระดับประเทศในทุกรายวิชา นักเรียนในหลักสูตรวิทย์-คณิต ทั่วไป และหลักสูตรส่งเสริมศักยภาพของโรงเรียนได้รับความรู้ทางด้านวิชาการ ได้ใช้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ได้ใช้อุปกรณ์การทดลองที่เป็นครุภัณฑ์จากงบประมาณโครงการฯ ได้ใช้ห้อง Smart Classroom และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ได้รับการจัดสรรจากโครงการ วมว.-มข. จากประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับจากการเข้าร่วมแข่งขันทักษะและความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติและระดับนานาชาติ ยังนำไปสู่การพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยของนักเรียน และสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าร้อยละ 80
________โครงการ วมว.-มข. ในระยะที่ 3 ระหว่าง พ.ศ. 2564 –2583 ที่จะได้มีการลงนามความร่วมมือกันต่อไปนั้น ได้วางเป้าหมายในการรับนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการ จำนวน 60 คน/ปี จำนวน 2 ห้องเรียน เพื่อเข้าศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) แห่งละ 1 ห้องเรียน โดยมีหลักสูตรที่ปรับปรุงให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งเน้นผลิตนักเรียนที่มีความเป็นนวัตกร (Innovator) ตามอัตลักษณ์ของนักเรียนและพันธกิจของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยกิจกรรมเสริมหลักสูตรทั้งในและนอกห้องเรียนที่ผลักดันศักยภาพและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อีกทั้งคาดหวังให้เกิดผลลัพธ์ และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่หลักสูตรอื่น ๆ โรงเรียน ทำให้นักเรียนในหลักสูตรอื่น มีโอกาสเข้าใช้สื่อและทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกับนักเรียนในโครงการเพื่อร่วมยกระดับการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของโรงเรียนอันจะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่เข้มแข็งทางวิชาการและประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมต่อไป
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : วัชรา น้อยชมภู / สุขทวี คลังตระกูล